ฉันต้องการอะไร?: การเยียวยาและเติมเต็มข้างในด้วยหลัก NVC

บทความโดย KHANOON วัชรสิทธา

เก็บความเนื้อหาจากการอบรม
แปลรักเป็นความ: เรียนรู้พื้นฐานการสื่อสารอย่างสันติในความสัมพันธ์ใกล้ชิด ณ วัชรสิทธา


Non-Violent Communication หรือเรียกสั้นๆว่า NVC เป็นรูปแบบการสื่อสารด้วยหลักของความกรุณา ปราศจากความรุนแรงที่ถูกพัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน มาร์แชล โรเซนเบิร์ก (Marshall B. Rosenberg) ช่วงปี 1960s และถูกพูดถึงในประเทศไทยมาแล้วกว่า 10 ปี ในหมู่นักกิจกรรมเพื่อสังคม การสื่อสารอย่างสันติถูกใช้เพื่อเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิต่างๆ กับทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

เมื่อมองจากบริบทนั้น NVC ดูห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเราเสียเหลือเกิน (แม้ว่าการพูดถึงในตอนนี้จะฟังดูเกร่อก็ตาม) หากมันถูกใช้ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย ก็มักเป็นการใช้เพื่อพัฒนาการสื่อสารภายในหน่วยงาน หรือพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของครู และผู้ให้บริการทางการแพทย์

แล้วอะไรกันที่ทำให้วัชรสิทธายังคงเชิญพี่ณัฐ ‘ณัฐฬส วังวิญญู’ กระบวนกรผู้ผ่านการทำ NVC กับองค์กรมานับไม่ถ้วน เข้ามาสอนเรื่องนี้ใน “Love in Translation: แปลรักเป็นความ” ?

จะบอกว่า NVC คือขั้นตอนการสื่อสารคำพูดให้ตรงกับความรู้สึก หรือความต้องการที่สุดก็ได้ แต่นั่นเป็นการให้ความสำคัญกับลำดับวิธีการมากกว่าจะเป็น ‘หัวใจ’ ของมันจริงๆ ทำให้หลายครั้ง NVC กลายเป็นอะไรปลอมๆ ที่เราพูดใส่กัน แสดงความเข้าอกเข้าใจต่ออีกฝ่ายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

ทุกการกระทำมีความต้องการซ่อนอยู่

ด้วยหลักการ หรือ ‘หัวใจ’ ที่ว่า ‘ทุกการกระทำมีความต้องการซ่อนอยู่’ นี่แหละที่นำไปสู่การทำงานภายในกับความคิด อารมณ์ความรู้สึก และบาดแผลในชีวิต ทำให้พื้นที่ของวัชรสิทธาเหมาะเหม็งกับการเชื่อมโยงการสื่อสารเข้ากับประเด็นทางจิตวิญญาณ หรือความเป็นมนุษย์ เพราะเราแทบจะไม่เห็นการภาวนาในระดับวาจาเลย แตกต่างจากการกลับมารู้เนื้อรู้ตัวกับร่างกาย และการกำหนดจิตใจ (เช่น การตั้งปณิธาน) ที่มีการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง

ไม่มีมนุษย์คนใดปราศจากความต้องการ (Needs) แต่ใช่ว่าเราจะตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ต้องการจากคำพูด และการกระทำของตัวเองเสมอไป เรามักรับรู้แค่ความรู้สึก โกรธ เสียใจ ดีใจ สำหรับหลายคนแม้แต่การเข้าไปถึงความรู้สึกก็เป็นเรื่องยาก เมื่อคนรอบข้างเริ่มตัดสินการกระทำของเขา ‘เขาเป็นเด็กไม่ดีเพราะชอบโกหก’ ‘เธอเป็นคนใช้ไม่ได้เพราะมาทำงานสายเป็นประจำ’ ก่อนจะเข้าไปหาสาเหตุที่ลึกกว่านั้น

แล้วคำตัดสินพวกนี้มาจากไหนล่ะ? ก็มาจากกฎระเบียบ บรรทัดฐาน ค่านิยมของสังคม ตลอดจนการซึมซับรูปแบบการตอบสนองจากครอบครัว และความสัมพันธ์ใกล้ชิด พอบริบทภายนอกมีผลต่อการก่อร่างมิติภายใน แทนที่เราจะเข้าไปรับรู้ความรู้สึก ความต้องการอย่างซื่อตรง ก็ดันมีของมากองสุมจนระเกะระกะไปหมด

การรับรู้ความต้องการนั้นเหมือนการสัมผัสความเปราะบาง ความสั่นไหวข้างในใจ เมื่อเราต้องแสดงออกถึงความต้องการก็ยิ่งเป็นการเปิดเผยความเปราะบางให้คนอื่นเห็น นอกจากกองสิ่งของจะเป็นกำแพงขวางกั้นความเข้าใจต่อตนเอง ในอีกทางมันกลับเป็นปราการปกป้องเราด้วย

เมื่อเราสัมผัสความต้องการ เราสัมผัสมนุษยชาติในตนเอง

ขนาดรับรู้ความต้องการของตัวเองยังยากเย็นปานนั้น การต้องพยายามเข้าใจความต้องการเบื้องลึกของอีกคนจึงเป็นอะไรที่บ้าบอมาก ถามว่าบ้าขนาดไหน? ก็ขนาดที่บางทีเราหัวร้อนแล้วตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายไปตามอารมณ์ ไม่ว่าจะออกมาในรูปการด่าทอ จิกกัด ประชดประชัน ไปจนถึงการปฏิเสธที่จะเข้าใจอีกฝ่ายจากการที่ความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนองเช่นกัน

ฉะนั้นแค่การรับรู้ความต้องการของตัวเองก็เป็นเรื่องที่ประเสริฐยิ่งแล้วในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เราอาจคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย ดูคล้ายความเห็นแก่ตัวที่จะต้องมุ่งความสนใจกลับมาที่ตัวเอง แต่การกระทำเรียบง่ายเพียงเท่านี้ก็สามารถเชื่อมโยงเรากับคนอื่นๆ ได้

อย่างที่บอกว่ามนุษย์ล้วนมีความต้องการ ซึ่งไม่ใช่ในระดับทุกคน ‘อยากกินข้าวมันไก่’ เหมือนกัน ความต้องการที่เราหมายถึงเป็น Pure Energy เช่น ความรัก ความอิ่มท้อง การยอมรับ ความเข้าใจ เพื่อเติมเต็มความต้องการกินอิ่มซึ่งทุกคนมี เราอาจจะกินข้าวมันไก่ บะหมี่เนื้อ หรือสเต็กจานโตก็ได้ แม้ว่าวิธีการ หรือการแสดงออกจะแตกต่าง หากค้นให้ลึกลงไปอาจนำไปสู่จุดหมายเดียวกัน

ที่พูดมาทั้งหมดสามารถสรุปเป็นคำสวยๆ ได้ว่า…

‘Empathy’ มันไม่ได้เริ่มจากการมอบให้คนอื่น แต่เริ่มจากข้างในตัวเรา

การเข้าถึงความต้องการคือการกลับบ้าน

แรกรู้จัก NVC ดูเป็นกระบวนการที่พาเราออกไปทำงานกับอะไรที่อยู่ ‘ข้างนอก’ หรือไปพ้นจากตัวเรา รู้อีกทีมันก็โน้มนำเราเข้าสู่การเยียวยาตนเองจากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง เราเข้าไปในบ้าน พลิกดูรอยชำรุดของสิ่งต่างๆ ซึ่งหมักหมมไว้ บางครั้งเรารู้สึกว่ามันเป็นความต้องการที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่เพราะมันได้ปรากฏขึ้นแล้ว

เราจะมองดูมันตรงๆ โดยไม่ตัดสินได้ไหม?

เราจะมี Empathy ขอบคุณมันที่ทำให้รู้ว่าอะไรสำคัญได้รึเปล่า?

การเลี้ยงดูของครอบครัว และการบ่มเพาะทางสังคมทำให้เรามีแนวโน้มจะเฆี่ยนตีตัวเองเมื่อขาดพร่อง ดังนั้นเวลาฝึก NVC จึงรู้สึกว่ามันเรียกร้องจากเรามากเกินไป หรือยากเกินกว่าจะทำได้จริงในความสัมพันธ์ เราให้ Empathy กับคนอื่นไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้อยากใจไม้ไส้ระกำ ความรู้สึกขัดแย้งนี้เป็นสัญญาณกลายๆว่าข้างในของเรายังได้รับ Empathy ไม่มากพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

ถามว่ารู้แล้วได้อะไร? ในเมื่อยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ

พลังแห่งการตระหนักรู้จะช่วยให้เราไม่ต้องวิ่งวนไปตามแรงขับของความต้องการที่พยายามหาทางออก ในรูปของการกระทำ นิสัยอันไม่พึงประสงค์ เช่น การเสพติด ภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง หรือท่าทีในการตอบสนองต่อคนรอบข้าง และสถานการณ์ต่างๆ แบบก้าวร้าว

ร้องขอเพื่อเติมเต็มความต้องการ

ในขั้นแรกสุดของการสื่อสารอย่างสันติ เราจึงควรกลับมาดูแลใส่ใจความต้องการภายใน อะไรที่เราพอจะเติมเต็มได้ด้วยตัวเองก็ทำสักหน่อย อะไรที่จำเป็นต้องร้องขอจากความสัมพันธ์ ก็ลองขอดู

ด้วยความที่เราชินกับการถูกสั่ง เราเลยมีแนวโน้มจะไปสั่งคนอื่นต่อ ทำให้บางที ‘คำร้องขอ’ กลับฟังเป็น ‘คำสั่ง’ เสียได้ ยกตัวอย่างเช่น แท็กซี่ขับซิ่งมากจนท้องหวิวไปหมด เราเลยอยากขอร้องให้คุณโชเฟอร์ขับช้าลงหน่อย ‘อย่าขับเร็วได้ไหม’ เผอิญคำว่า ‘อย่า’ มีนัยที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด เขาก็ไม่อยากจะทำตามคำขอแล้ว หรือถ้าแม่โผล่มาจากครัว บอกว่า ‘ไปหยิบจานให้หน่อย’ พอไม่มีคำว่า ‘ได้ไหม?’ ปิดท้ายก็กลายเป็นคำสั่งไปทันที

ในกรณีแท็กซี่ เราต้องการความปลอดภัย เราจึงขอให้เขา ‘ทำ’ บางอย่างให้

เขยิบมาที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันสักหน่อย หากเราไม่พอใจแม่ที่ชอบพูดเปรียบเทียบกับเด็กข้างบ้าน ขอให้แม่ใส่ใจความรู้สึกเราไปหลายรอบก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ขั้นนี้เราควรมา ‘สื่อสาร’ กันแล้วว่าการพูดเปรียบเทียบทำให้เรารู้สึกด้อยค่ายังไง เพื่อไม่ให้แม่รู้สึกโดนโจมตีจนเกินไป อาจจะถามเขากลับด้วยว่ามีเหตุผลที่เขาทำแบบนี้รึเปล่า

ถ้าแม่โวยวายบ้านแตกกว่าเดิม การร้องขอทั้ง 2 ประเภทนั้นอาจผิวเผินเกินไปที่จะมาเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกหักอยู่ก่อนแล้ว เราจึงควรมาทบทวนความรู้สึกใน ‘ความสัมพันธ์’ เราเสียใจที่แม่บอกว่าเด็กข้างบ้านสอบได้เกรดดีกว่า เพราะเราอยากได้รับการยอมรับจากแม่ ที่แม่โวยวายอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าเราไม่รักเขา การปรับความเข้าใจให้ตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายจึงช่วยให้การขอร้องประสบความสำเร็จมากขึ้น

ความต้องการไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนอง

แต่ขึ้นชื่อว่าร้องขอ นั่นหมายความว่า เราอาจได้ หรือ ไม่ได้อย่างที่หวัง การมี Empathy เลยไม่ได้สิ้นสุดแค่ที่การเข้าใจว่าเรามีความต้องการนั้น แต่ยังรวมไปถึงการเข้าใจว่ามันอาจยังไม่ได้รับการตอบสนองในตอนนี้ หรือในอนาคตอันใกล้ด้วย ขั้นตอนการไว้อาลัยต่อความคาดหวังจึงสำคัญพอๆ กับการเฉลิมฉลองให้กับความต้องการที่ถูกเติมเต็ม

การไว้อาลัยทำเมื่อความต้องการหมดความสำคัญ และตายจากเราแล้วอย่างนั้นหรอ?

ความต้องการไม่ได้หายไปไหนหรอก มันยังคงมีคุณค่าอยู่ในใจเราเสมอ เราถึงได้เศร้าเสียใจขนาดนั้น การไว้อาลัยต่อความคาดหวังทำให้เราสามารถมูฟออนไปหาวิธีอื่นๆ มาเติมเต็มความต้องการเดิมได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คืออยู่กับมันอย่างสันติ

มากไปกว่านั้น คำปฏิเสธจากอีกฝ่ายไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าสิ่งที่สำคัญกับเราช่างไม่มีค่าในสายตาเขาเลย ขณะที่เราพยายามดูแลความต้องการของเรา เขาก็กำลังดูแลในส่วนของเขาซึ่งไม่ตรงกับเราเฉยๆเท่านั้นเอง ความยินดีให้กับเขาจึงผสมผเสอยู่ในความผิดหวัง นี่ก็นับเป็น Empathy อย่างหนึ่ง ใดๆก็ตามอย่าลืมใจดีกับตัวเองด้วย หากเสียใจจนเอาอารมณ์ไปลงที่คนอื่น

ปลดปล่อยตัวเองจากความต้องการ

การรู้ความต้องการตัวเองนำไปสู่ทางเลือก

เราจะมุ่งแก้ไขตัว ‘ปัญหา’ โดยไม่สนใจความต้องการเลยก็ได้ หรือเราเลือกที่จะใส่ใจกับความต้องการ และทำงานกับเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือถ้ามันเป็นความต้องการที่ไร้ทางออก เราจะอยู่กับมันด้วยทัศนคติแบบไหน

คำน่าสนใจที่พี่ณัฐพูดถึงก็คือ ‘พื้นที่’ การมีทางเลือกคือการสร้างพื้นที่ในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ มันไม่มีคำว่า ฉัน ‘ต้อง’ ทำสิ่งนี้ แต่เป็น ฉัน ‘เลือก’ ที่จะทำมันต่างหาก ซึ่งให้ Sense ของอิสรภาพ การเป็นเจ้าของชีวิตตนเอง สามารถดูแลสุขทุกข์ส่วนตัวได้

บ่อยครั้งเราตอบสนองต่อเหตุการณ์ หรือคนๆ หนึ่งอย่างทันทีทันใดด้วยบาดแผลในวัยเด็ก หรืออารมณ์พวยพุ่งขณะนั้น เหมือนกับว่าเราได้กลายเป็นทาสของความต้องการ มีหน้าที่แค่ทำตามแรงขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ บางครั้งก็รู้ตัว บางครั้งก็ไม่ แล้วมันก็จบไม่สวยอยู่ร่ำไป

เมื่อเราดูแลตัวเองมาถึงจุดที่สามารถเท่าทัน สามารถสร้างพื้นที่ภายในระหว่างมีบทสนทนาได้ มันทั้งปลดปล่อยเราเอง และช่วยในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น สุดท้ายแล้วการทำงานกับข้างในก็จะส่งผลต่อความสัมพันธ์…

เราจะสื่อสารกับคนตรงหน้ายังไง?

ใช้คำพูด น้ำเสียงแบบไหน?

ทำไมเราถึงพูดแบบนั้น?

ทันทีที่เราเกิดโมเมนต์ ‘โอ้โห มันเป็นอย่างนี้นี่เอง!’ และไม่มีอะไรจะถามตัวเองอีก เราจะเริ่มเผื่อแผ่คำถาม Empathy ไปยังคู่สนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องพยายามจะเป็นนัก NVC ให้เหนื่อยอกเหนื่อยใจ การภาวนาที่เราเข้าใจว่าเป็นเรื่องของเราคนเดียว พอเราใจเปิดมากพอก็สามารถรวมสิ่งอื่นเข้ามาอยู่ในการฝึกฝนพัฒนาทางจิตวิญญาณ ผ่านการตระหนักรู้ในถ้อยคำ ในสารที่สื่อเข้าไปถึงใจ

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการถามตัวเอง ‘ฉันต้องการอะไร?’