บทสัมภาษณ์ อุ๊ กฤตยา ศรีสรรพกิจ
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์โดย คณพล
ภาพประกอบ Nakkusu
คำว่า “ครอบครัว” และ “พ่อแม่” เป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคน เพราะมันคือ “ที่มา” ของเรา แต่บ่อยครั้งในสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว เราใช้ชีวิตโดยขาดการเชื่อมโยงกับที่มานี้ ที่มาซึ่งมอบโลกทั้งใบให้กับเรา ทั้งการมีอยู่ การก่อร่างตัวตน ไปจนถึงมุมมองต่อโลก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามถึงความทุกข์ของตัวเอง เราอาจมองเห็นถึงสายสัมพันธ์นี้ที่เต็มไปด้วยบาดแผลและปมปัญหาที่รอการเยียวยา
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เราชวน อุ๊—กฤตยา ศรีสรรพกิจ มาพูดคุยถึงสิ่งที่เธอกำลังศึกษาและฝึกฝน อย่างการบำบัดแบบ Family Constellation รวมไปถึงมุมมองทางจิตวิญญาณที่เธอได้รับมาจากครูซูฟีของเธอ เพื่อสำรวจถึงอิทธิพลและความสำคัญของสายสัมพันธ์นี้ที่แน่นแฟ้นกับเรามากกว่าเพียงกายภาพ แต่ลึกซึ้งถึงระดับจิตวิญญาณ ซึ่งหากเราเริ่มต้นตระหนักและกลับไปเชื่อมต่อกับมันผ่านปมปัญหาหรือบาดแผลทางใจ เราอาจค้นพบประตูสู่จิตวิญญาณที่แท้จริงของเรา
ทรอม่าคือเส้นทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ในตน
ในมิติทางจิตวิญญาณ ชีวิตไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเจตจำนงของเราที่จะการบรรลุถึงศักยภาพและคุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ครูฮามิดะ – ครูซูฟีของอุ๊ ใช้คำว่า
“เราเลือกมาเกิดกับพ่อแม่คู่นี้ ในประเทศนี้ เวลานี้ เพราะเป็นเงื่อนไขที่เหมาะที่สุดในการค้นพบตัวตนอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา”
ขณะที่ Family Constellation กล่าวถึงความหมายของครอบครัวว่า “เราเข้าสู่โลกใบนี้ผ่านพ่อแม่ของเรา” ซึ่งหมายถึง การที่เราได้มีชีวิตในโลกนี้ผ่านพวกเขา
จากมุมมองนี้ พ่อและแม่ทางสายเลือดจึงไม่ใช่เพียง “ผู้ให้กำเนิด” แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่เราได้เลือกเอาไว้มาก่อนแล้ว “ครูฮามิดะและ Family Constellation พูดตรงกันว่า พ่อและแม่คือผู้มีบุญคุณสูงสุด แม้ว่าเขาจะไม่เคยให้อะไรนอกจากชีวิต เขาอาจเสียชีวิตไปตั้งแต่แรกหรือไม่เคยเลี้ยงดูเราเลยสักวัน แต่เขาก็ได้ให้ของขวัญที่ล้ำค่าที่สุดมาแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเชื่อมต่อแรกที่เรามีกับโลก”
เมื่อเกิดมา เราก็รับเอาส่วนหนึ่งของพ่อและแม่ทั้งในเชิงชีวภาพและเชิงพลังงานมาด้วย สายสัมพันธ์นี้ประทับอยู่ทั้งในระดับจิตสำนึกและใต้สำนึก ความสัมพันธ์ทางใจของเรากับพ่อแม่ จึงสะท้อนความสัมพันธ์ของเรากับตัวเองด้วย ถ้าเราไม่ชอบพ่อแม่ เราก็อาจจะไม่ชอบตัวเองด้วย เพราะเรารู้ว่าเรามาจากเขา
“มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอมาก เราไม่มีทางอยู่รอดในช่วง 2 ปีแรกได้หากไม่มีคนดูแล เด็กในวัยนั้นรู้ตัวว่าถ้าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ดูแล เขาจะต้องตาย สายสัมพันธ์นี้จึงอยู่ในระดับ “ความเป็นความตาย” อะไรก็ตามที่เกิดกับแม่ เด็กจะรับรู้ร่วมด้วยเสมอ “แม่เจ็บ ฉันก็เจ็บ” เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองกับแม่เป็นคนละคนกัน เขาจึงพึ่งพิงแม่ทั้งด้านการดูแลและการรับรู้ จนกว่าจะถึงจุดที่เกิดการแยกตัวและค้นพบว่า “มือนี้เป็นของฉัน ฉันสั่งมันได้ด้วยตัวเอง”
อุ๊ เสริมว่า ในช่วง 2 ปีแรก เป็นช่วงก่อเกิดตัวตนหรืออัตตาถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของเรา มันเป็นช่วงที่เด็กจะตัดสินว่า “โลกคืออะไร ฉันคือใคร ฉันจะดำเนินชีวิตอย่างไร” การตัดสินใจในวัยนี้จะส่งผลต่อชีวิตที่เหลืออีก 80-90 ปีของเรา นั่นทำให้ขวบปีแรกๆ ของเด็ก เป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะการเกิด “ทรอม่า” หรือปมบาดแผลทางใจ จากคนที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างพ่อและแม่
“ครูฮามิดะอธิบายว่า “ไม่มีมนุษย์คนไหนไม่มีทรอม่าในวัยเด็ก” ไม่ว่าเราจะมีพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบแค่ไหน รักเรามากแค่ไหน พวกเขาก็ไม่สามารถให้ทุกอย่างที่ต้องการได้ บางครั้งเด็กร้องไห้หิวนม แต่แม่ไม่เข้าใจว่าหิว เด็กจึงผิดหวัง ซึ่งแต่ละคนก็จะตีความแตกต่างกันไป บางคนอาจตีความว่า “แม่ไม่รัก” “ฉันทำตัวไม่ดี แม่เลยไม่สนใจ” บางคนรู้สึก “ถูกหักหลัง” เมื่อบุคลิก นิสัย และวิธีมองโลกที่ติดตัวเรามาแต่เกิดผสมเข้ากับความผิดหวัง มันจึงกลายเป็นปมบาดแผลภายในที่เฉพาะตัว”
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “ทำไมครอบครัวจึงเป็นแหล่งสร้างทรอม่า?”
อุ๊ อธิบายผ่านคำสอนของครูฮามิดะว่า ทรอม่าทั้งหมดไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ในระดับจิตวิญญาณเราได้เลือกให้พ่อแม่คู่นี้สร้างทรอม่าแก่เราตั้งแต่ต้น เพื่อปลุกบางสิ่งในตัวเรา มันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเยียวยาแผลเหล่านั้นแล้ว ถ้าไม่มีแผล ก็ไม่มีอะไรให้เยียวยา และไม่มีโอกาสได้ค้นพบคุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นเลย
“เมื่อเกิดทรอม่า เราจะใช้ชีวิตจากทรอม่าเหล่านั้น และจะดึงดูดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ช่วยให้เรามองเห็นแผลนี้ชัดขึ้น เพื่อที่จะได้เยียวยา และค้นพบศักยภาพอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ด้านหลังทรอม่าเหล่านั้น”
กระบวนการเยียวยาทรอม่า
ปมบาดแผลทางใจ เป็นสิ่งที่เยียวยาได้ ซึ่งคนเดียวที่สามารถทำได้ก็คือตัวเราเอง มันจึงทั้งง่ายและท้าทายมากในเวลาเดียวกัน สิ่งสำคัญของการทำงานกับทรอม่า จึงเป็นการยอมรับถึงบาดแผลทางใจเหล่านี้เสียก่อน บาดแผลที่ทำให้เราเป็นเรา ทุกข์อย่างที่เราทุกข์ และหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดในแบบที่เราหนี
ใน Family Constellation กระบวนการเยียวยาเริ่มจากการตระหนักถึงผู้ที่มีส่วนสร้างทรอม่าให้แก่เรา โดยการ “รับรู้ตามจริง (acknowledge)” ถึงพ่อแม่ของเรา เห็นว่าเขาคือผู้ที่มอบชีวิตและขอบคุณต่อสิ่งนั้น แต่เราไม่จำเป็นต้องให้อภัย (forgive) หรือ “ยอมรับ (accept)” เพราะบางกรณีก็อาจจะโหดร้ายและยากเกินไป จากนั้นเราจะได้กล่าว “บทพูดของการเยียวยา” 3 ส่วน กับบทบาทสมมุติในกลุ่มเยียวยา โดยที่ไม่ต้องไปพูดกับพ่อแม่จริงๆ
ส่วนที่ 1 : นี่คือพ่อของเรา นี่คือแม่ของเรา
เราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เขาคือผู้ให้ชีวิตแก่เรา ไม่ว่าชอบหรือเกลียด เราต้องรับรู้ความจริงนี้
ส่วนที่ 2 : เขาทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว
เราไม่มีสิทธิ์ย้อนกลับไปเรียกร้องว่า “ทำไมวันนั้นแม่ไม่ทำอย่างนั้น” หรือ “ทำไมพ่อไม่ทำอย่างนี้” ในส่วนนี้ อุ๊ เสริมว่า “หลายคนเมื่อได้ยินประโยคนี้ อาจจะรู้สึกกรีดร้องอยู่ข้างใน แต่ถ้ามาคิดดูดีๆ มันก็เป็นความจริง พ่อแม่ก็คือคนธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบ การอยู่ใกล้กันมากๆ ยังไงก็ต้องมีบาดแผล แต่ในช่วงเวลานั้นเขาก็ให้เต็มที่เท่าที่ทำได้แล้ว ถ้าเขาสามารถทำได้มากกว่านั้น เขาก็คงทำ แต่ด้วยศักยภาพ สภาพแวดล้อม และปัจจัยต่างๆ เขาให้ได้เท่านั้นจริงๆ”
ส่วนที่ 3 : ต่อจากนี้ไป ฉันจะให้ทุกอย่างกับตัวเอง ฉันจะทำต่อเอง
เราไม่ต้องพยายามคืนดี ขออภัย หรือเรียกร้องอะไรจากพ่อแม่ของเราอีก เพราะถึงที่สุดแล้วพลังที่จะเยียวบาดแผลนี้ได้ ก็คือพลังที่มาจากตัวเราเอง
การกล่าวบทพูดทั้งสามส่วน สมบูรณ์ในตัวเอง มันคือการยอมรับ ขอบคุณ และบอกลา อุ๊ กล่าวว่า “มันคือการปล่อยวางความผิดหวัง หลายคนที่ยังติดอยู่กับทรอม่า ก็เพราะว่าเขายังคงเรียกร้องสิ่งที่ควรจะได้ เช่น ฉันควรได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ ควรได้รับเวลามากกว่านี้ ฯลฯ แต่เรื่องราวมันเกิดขึ้นและจบไปแล้ว ไม่ว่าพ่อแม่จะพยายามชดใช้ให้แค่ไหน มันจะไม่มีวันพอ มันไม่มีวันชดเชยสิ่งที่ขาดไปตอนนั้นได้ เราต้องหาวิธีเยียวยาตัวเอง”
แนวคิดนี้สอดคล้องกับคำสอนเรื่อง inner child ของครูฮามิดะ ที่ว่า เมื่อเด็กต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรงเกินรับมือ เขาจะแข็งตัวและกดเก็บไว้ ไม่ปลดปล่อยความผิดหวังนั้นออกมาเลย เพราะเขารู้ว่าจะไม่มีใครรับฟัง ในกระบวนการเยียวยา เราจะย้อนกลับไปสู่โมเมนต์นั้น เชื้อเชิญเสียงและอนุญาตให้เด็กคนนั้นได้พูดออกมา ว่าเขาเจ็บปวดแค่ไหน ผิดหวังอย่างไร แล้วตัวเราที่เป็นผู้ใหญ่จะ “re-parent” เด็กคนนั้น เป็นพ่อแม่ให้เขาอีกครั้ง เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ไม่ได้รับในวันนั้นด้วยตัวเราเอง โดยไม่ต้องเรียกร้องให้พ่อแม่ทำให้
ปลดปล่อยชีวิตจากอดีต เพื่ออยู่กับปัจจุบัน
การทำงานกับความเจ็บปวดหรือปมบาดแผลทางใจ เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ต้องอาศัยทั้งความอ่อนโยนและกล้าหาญควบคู่กัน อุ๊ แนะนำให้เราฟังเสียงของตัวเองบ่อยๆ ว่า เราไหวแค่ไหน หากเรารู้สึกหนักเกินไป ก็ให้อ่อนโยนมากขึ้น สามารถหยุดพักหรือเว้นช่วงได้ ไม่บังคับตัวเองว่า “แกต้องให้เผชิญหน้ากับทุกทรอม่าเดี๋ยวนี้!” มันคือกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป ตามจังหวะของเราเอง
แต่แม้ว่าจะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นระหว่างการทำงานกับตัวเอง เราก็ไม่ควรล้มเลิกการทำงานกับทรอม่าหรือปมพ่อแม่ของเรา อุ๊ กล่าวว่า “ถ้าเราไม่ทำงานกับทรอม่าในอดีต เราจะใช้ชีวิตจากบาดแผลเหล่านั้น” ซึ่งมันจะส่งต่อความเจ็บปวดของเราไปสู่ทุกความสัมพันธ์ในชีวิต โดยเฉพาะกับคนรัก ที่เราอาจนำเขาหรือเธอมาเป็น “ตัวแทนพ่อแม่” และคาดหวังให้เขาเติมเต็มสิ่งที่เราขาด หรือเยียวยาความเจ็บปวดของเรา ชีวิตแบบนี้ไม่ใช่ชีวิตที่เป็นอิสระอยู่กับปัจจุบัน แต่เป็นชีวิตของความผิดหวังในอดีต
“ถ้าเรายังไม่ได้คลี่คลายปมเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่ บาดแผลเหล่านี้จะปรากฏซ้ำในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์กับคนรัก รวมถึงความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน ทุกคนจะกลายเป็นภาพสะท้อนจากทรอม่าในวัยเด็ก และมันจะวนซ้ำไปจนกว่าเราจะมองเห็น และเริ่มต้นทำงานกับมัน”
ยิ่งเราคลี่คลายบาดแผลในอดีตไปได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีพื้นที่ในการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันได้มากขึ้น อยู่กับคนตรงหน้าอย่างที่เขาเป็นจริงๆ แทนที่จะเห็นว่าเขาเป็น projection จากอดีต ครูฮามิดะเคยบอกว่า
“ถ้าเรายังไม่เยียวยาทรอม่าของตัวเอง จักรวาลจะช่วยให้มันกลับมาหาเราซ้ำๆ คนแบบเดิมกลับมาหาเราซ้ำๆ ให้เราได้ “สอบซ่อม” และเปิดโอกาสให้เราค้นพบศักยภาพที่แท้จริงผ่านสิ่งเหล่านั้น”