“สัมปชัญญะ” เป็นคำที่ไม่ค่อยถูกเน้นย้ำมากนักในพุทธศาสนาบ้านเรา บ่อยครั้งมักถูกอธิบายรวมอยู่กับคำว่า “สติ” ซึ่งหมายถึงการระลึกรู้ หรือการกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
แล้วในความเป็นจริง สัมปชัญญะมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากสติอย่างไร และมีความสำคัญที่ควรได้รับการเน้นย้ำและบ่มเพาะต่างจากสติอย่างไร?
สัมปชัญญะ หรือ awareness ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “การตระหนักรู้” แตกต่างจากการระลึกรู้ด้วยคุณลักษณะที่เปิด ขยาย กว้าง แผ่ และ decentralized กล่าวกันว่า สัมปชัญญะ คือขั้นของพัฒนาการทางปัญญา ธรรมชาติที่เปิดกว้างของสัมปชัญญะ คือคุณสมบัติของการตระหนักรู้อันแผ่กว้างของจิต ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น “พื้นที่” ให้แก่การยอมรับหรือเปิดรับสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น โดยไม่ปฏิเสธ กีดกันผลักออก หรือถอยหนี
เมื่อวันอังคารที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ในกิจกรรมสังฆะปฏิบัติของวัชรสิทธา พี่น้อง อุษณี นุชอนงค์ ได้นำเอาแบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อการทำความเข้าใจธรรมชาติของสัมปชัญญะมาให้สมาชิกได้ทดลองฝึกกัน
แบบฝึกหัดแรก เธอให้ลองเลือกเอา object of meditation หรือวัตถุภาวนามาหนึ่งอย่าง …จะเป็นแก้วน้ำ ยางลบ ก้อนหิน ดินสอ หรืออะไรก็ได้
โจทย์คือ ให้เราโฟกัสอยู่ที่วัตถุชิ้นนั้นระหว่างการภาวนา เมื่อใดก็ตามที่ตระหนักรู้ว่า ใจของเราไม่อยู่กับวัตถุนั้นแล้ว อาจจะล่องลอยออกไป เผลอคิด ก็ให้ระลึกรู้ แล้วพาใจกลับมาอยู่กับวัตถุนั้นอีกครั้ง
เราตระหนักรู้อยู่กับวัตถุภาวนา เมื่อจิตล่องลอย เราก็ตระหนักรู้ว่าจิตล่องลอยออกไป เมื่อพาจิตกลับมา เราก็ตระหนักรู้กับวัตถุภาวนานั้นอีกครั้ง พี่น้อง อุษณี อธิบายว่า การอยู่กับวัตถุภาวนา คือการตระหนักรู้ และชั่วขณะที่ใจล่องลอยออกไปแล้วรู้ก็คือการตระหนักรู้เช่นเดียวกัน ธรรมชาติของการตระหนักรู้อยู่ตรงนั้นเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะ tune in กับมันได้เมื่อไหร่ ต่อเนื่อง และกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้แค่ไหน
พี่น้อง อุษณี อ้างถึงบางบทตอนในหนังสือ ALREADY FREE “เธอคืออิสรภาพ” พุทธศาสนา x จิตบำบัด บนเส้นทางแห่งการปลดปล่อย หนังสือแปลเล่มใหม่ที่เขียนโดย บรูซ ทิฟต์ และจัดพิมพ์โดยวัชรสิทธา โดยผู้เขียนได้นำเสนอ 4 ขั้นตอนแห่งพัฒนาการของสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติภาวนาของเรา
ขั้นตอนแรก : “ซึมซับอยู่ในเนื้อหา”
ในขั้นนี้ เราอินอยู่กับเนื้อหา ดราม่า เรื่องราว เสียจนเราสูญเสียความสัมพันธ์กับธรรมชาติของการตระหนักรู้ หากใช้คำของ เพม่า โชดรัน ในหนังสือ “โจน: อิสรภาพจากความเคยชินและความกลัว” ก็คือ “เราติดเบ็ด” (เชนป้า) เหมือนปลาที่งับเหยื่อและถูกเกี่ยวด้วยขอ ไม่มีพื้นที่ระหว่างตัวเรากับเรื่อง เรากำลังติดอยู่ในดราม่าเหมือนกับนักแสดงที่อินอยู่กับบทบาทราวกับว่ามันเป็นชุดความจริงเดียวและเป็นความจริงที่สุด เราวนเวียนอยู่กับเรื่องนั้น หาเรื่อง เอาเรื่อง เป็นเรื่อง… เหมือนเรากำลังดูหนังอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้าง เราอินกับหนังมากเสียจนไม่อาจสัมผัสกลิ่นหญ้า ไอแดด สายลม เงาเมฆ หรือฟ้ากว้างได้ โลกทั้งใบหดเล็กเหลือเพียงแค่สิ่งที่นำเสนออยู่บนจอภาพยนตร์เท่านั้น
ขั้นตอนที่สอง: “ตระหนักรู้เนื้อหา”
ในขั้นนี้ เราเริ่ม “ตระหนัก” ว่ามีความเป็นจริงอื่นหรือความเป็นจริงที่กว้างขวางกว่าที่เราอินอยู่ในตอนนี้ ในขั้นนี้ คือท่าทีของการ “ผละ” ออกจากเนื้อหา ดราม่า เรื่องราว “ของเรา” เราค่อยๆ ผละจากการผูกโยงตัวตนกับการมีประสบการณ์ของตัวเอง เรา “มีประสบการณ์” แทนที่จะ “เป็นประสบการณ์” เราเริ่มมีพื้นที่ให้กับอะไรก็ตามที่เรากำลังมีประสบการณ์อยู่ มองความคิดว่าเป็นความคิด มองความเจ็บว่าเป็นความเจ็บ มองภาพว่าเป็นภาพ เราค่อยๆ ให้พื้นที่กับภาพปรากฏที่เกิดขึ้น และถอยออกมามองดูมันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เดินไปรอบๆ ดูจากหลายๆ มุม ทำความเข้าใจ เราเริ่มมีทางเลือกว่าจะเข้าไปสัมพันธ์กับเรื่องราวต่างๆ อย่างไร ขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ทั้งในงานจิตบำบัด และการภาวนา
ขั้นตอนที่สาม: “ตระหนักรู้การตระหนักรู้”
ในขั้นนี้ เกิดความต่อเนื่องของประสบการณ์การตระหนักรู้ โดยไม่ว่าเนื้อหาของประสบการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน เราจะยังคงตระหนักรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ความต่อเนื่องของการตระหนักรู้นี้เองที่ทำให้เกิดความรู้สึกของการเป็น “ผู้มีประสบการณ์” “ผู้ปฏิบัติ” หรือ “ผู้ที่กำลังทำความเข้าใจตัวเอง” ขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อการตระหนักรู้อย่างรู้ตัวที่เพิ่มขึ้น เกิดความก้าวหน้าและความต่อเนื่องของความตื่น เราเริ่มสังเกตเห็นถึงความมั่นคงของการกลับมาสู่การตระหนักรู้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนเป็นบ้านที่เราพำนัก ในขั้นนี้ถือเป็นพัฒนาการของความเข้าใจทางจิตวิญญาณ เราสามารถเผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะใดก็ตาม แล้วสามารถมองเห็นประโยชน์ของการพัฒนาศักยภาพของการตระหนักรู้ ดังที่ทิฟต์ใช้คำว่า “สภาวะจิตใจที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด”
ขั้นตอนที่สี่: “ซึมซับในการตระหนักรู้”
ขั้นที่สี่เป็นการหลอมรวมเป็นหนึ่งเข้าสู่ธรรมชาติของการตระหนักรู้ ซึ่งเป็นธรรมชาติหรือความดีพื้นฐานที่ “มีอยู่แล้ว” ตรงนั้นเสมอมา ในขั้นนี้เราสลายตัว self-consciousness เข้าสู่ธรรมชาติอันไพศาลและเป็นสากลของจักรวาลการตระหนักรู้ เราพัฒนาการผ่อนคลาย การหลอมรวม ความเป็นธรรมชาติ และเป็นธรรมดา เป็นขั้นของความรู้สึกปลดปล่อย และสลัดคืนเทคนิควิธีการทั้งหลาย ในขั้นนี้สภาวะจิตใจที่ดีไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป ทุกขณะสดใหม่และรับมือได้ เราสัมพันธ์อย่างฉับพลันและเต็มที่ ด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง ขอบคุณอย่างลึกซึ้ง และ “ไร้เงื่อนไข” ในขั้นนี้เป็นขั้นของความดื่มด่ำ ศรัทธา หลอมรวม สลายการแบ่งแยก และเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและทุกสายสัมพันธ์ที่เอื้ออิงอาศัยกัน
ทั้งสี่ขั้นตอนที่ทิฟต์นำเสนอ อาจฟังดูแล้วเหมือนการอธิบายสัจธรรมในเชิงอภิปรัชญา ทว่าจริงๆ แล้วสื่อสารถึงประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำของเราทุกคนอยู่ตลอดเวลา
เรามีชั่วขณะที่ติดอยู่ในเรื่องราว เช่นการโทษคนอื่น โทษตัวเอง รู้สึกผิด คิดว่าตัวเองถูก หรือรู้สึกสิ้นหวังกับชีวิตหรือกับโลก และเรามักเชื่อว่ามันจริงมากๆ และไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้
เรามีชั่วขณะที่มีใครสักคนชวนเราถอยออกมาดูจากมุมที่กว้างขึ้น ให้ฟีดแบ็คเรา พาเราออกไปจากความคิดที่ตอกย้ำอยู่ซ้ำๆ เราอาจจะมีโอกาสได้ฝึกภาวนาพื้นฐานของการ “แค่รู้ว่าคิด” หรือการถอยออกมาเป็นผู้เฝ้ามอง แทนที่จะเป็นผู้เล่นในเกมนั้นซ้ำๆ เราอาจมีโอกาสได้เข้าพบนักจิตบำบัดที่ช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา และช่วยให้เรามองเห็นตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้น
เรามีชั่วขณะที่เราเรียนรู้และทำงานกับตัวเองอย่างต่อเนื่อง เรารู้สึกถึงความเป็นปกติพื้นฐาน ความมั่นคงทางใจ รู้สึก grounded รู้จักดีลกับชีวิตและกับโลกได้ แทนที่จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นปัญหาหรือไม่โอเคอยู่ตลอดเวลา เราเริ่มเกิดความรู้สึกรักตัวเอง เรารู้สึกโอเค พูดได้เต็มปากว่าชีวิตมีความสุข หรือเราอาจเชื่อมโยงตัวเองอย่างมั่นคงเข้ากับธรรมชาติพื้นฐานของการตื่นรู้หรือเส้นทางจิตวิญญาณ
และเรามีชั่วขณะที่เราไม่ต้องมัวคำนึงถึง “ตัวเอง” อีกต่อไป เรารู้สึกปลดปล่อย ฉับพลัน มีความสว่างวาบของปีติสุข การเฉลิมฉลอง ความชื่นชมยินดีอย่างสุดหัวใจ เป็นความรู้สึกดื่มด่ำที่ไม่ใช่ต่อเนื้อหาที่ตายตัว ทว่าดื่มด่ำกับอิสรภาพและความเป็นไปได้อันกว้างใหญ่ไพศาล เราขอบคุณประสบการณ์อันสดใหม่ ไม่อาจควบคุมได้ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนี้ ทุกอารมณ์ ทุกประสบการณ์ ทุกผู้คน ล้วนแสดงออกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการมีชีวิตอยู่