แปลและเรียบเรียง โดย พชร สูงเด่น
AND SPARKS WILL FLY
เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ผู้จุดประกายพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่
สัมภาษณ์โดย เวย์ลอน ลูวิส จากนิตยสาร elephant ฉบับฤดูหนาว 2005
อ่านตอนที่ 1 : https://vajrasiddha.com/reggieinterview1/
ele: คุณเพิ่งก่อตั้ง Dharma Ocean Foundation ชื่อ Dharma Ocean แปลมาจากคำว่า Chokyi Gyatso ซึ่งเป็นชื่อของเชอเกียม ตรุงปะ สิ่งที่คุณทำถือเป็นการสืบทอดสายของการฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นและประสบการณ์การรู้แจ้งที่คุณได้รับมาในช่วง ‘70 ถึง ‘74 ให้คงอยู่ต่อไปใช่ไหม?
ดร.เรย์: ใช่ ผมบอกนักเรียนทุกคนว่า “คุณจะต้องฝึก ฝึกอย่างหนัก คุณสามารถเข้าถึงการรู้แจ้งได้ คุณก็แค่ต้องภาวนา นี่คือความหมายของการสืบทอดสายธรรม” มันเป็นประโยคเดียวกันกับที่ครูของผมพูดกับผม
ele: และหลังจากปี ‘78 เชอเกียม ตรุงปะ ก็นำเสนอคำสอนชัมบาลาที่โฟกัสไปที่การมีชีวิตอยู่ในโลก ในฐานะ ‘ฆราวาสผู้ฝึกปฏิบัติ’ (householder yogi) คนที่มีลูก มีงาน มีสามีหรือภรรยา รู้สึกฟิตอินกับชุมชนของพวกคุณอย่างไร? เพราะเท่าที่เคยได้ยินมา การรู้แจ้งอย่างลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในรีทรีท
ดร.เรย์: ใช่และไม่ใช่ คำถามน่าสนใจมากเลย ผมมองสถาบันนาโรปะในปี ‘74 ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านวิธีการที่ท่านตรุงปะทำงานร่วมกับศิษย์ ในช่วงก่อนเริ่มนาโรปะ ท่านไม่อยากให้เราเข้ารีทรีทระยะยาว ตอนที่ผมถามท่าน ท่านอยากให้ผมเข้ารีทรีทอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปีไปตลอดชีวิต และคงการฝึกปฏิบัติประจำวันไว้ แต่เวลาหลายคนถามว่า “เราควรเข้ารีทรีทหนึ่งปี สามปี หรือไม่?” – ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังไม่มีลูกกัน ท่านบอกว่า “ไม่ นั่นไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด สิ่งที่เธอจำเป็นต้องทำคือผสมผสานรีทรีทเข้ากับชีวิตปกติ เธอจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ เธอจำเป็นต้องแต่งงาน มีลูก และเผชิญกับเหตุการณ์ขึ้นๆ ลงๆ ในชีวิต และเมื่อมันหลอมรวมเข้ากับการภาวนาแล้ว มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเธอ”
เท่าที่ผมรู้ ท่านบอกแทบทุกคนอย่างน้อยก็ในช่วงปีแรกๆ ว่า ถ้าคุณได้อ่านเรื่องราวชีวิตของนักบวชผู้ยิ่งใหญ่หรือสิทธาผู้ตื่นรู้ คุณจะพบว่าแท้จริงแล้วพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในรีทรีทเต็มเวลา พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในโลกด้วย รีทรีทเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขา แต่มีพลังบางอย่างที่ถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อคุณนำสภาวะจากการภาวนาและการฝึกปฏิบัติผสานเข้ากับความโกลาหลของชีวิตปกติ ครั้งหนึ่ง รินโปเชเคยกล่าวถึงวัตรปฏิบัติที่เขาเติบโตมาว่า ท่านรู้สึกถึงข้อจำกัดในสถานการณ์ที่มีผู้อื่นคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ท่านบอกว่าปัญหาของวัดจากมุมมองทางโลกก็คือ คุณต้องคอยพึ่งพาผู้บริจาคที่ร่ำรวยอยู่เสมอ คุณต้องเล่นเกมการเมืองที่ส่งผลต่อความสามารถในการรับรู้ของคุณ ท่านบอกว่าสิ่งที่เยี่ยมมากเกี่ยวกับสิทธาก็คือ พวกเขาพึ่งตนเองได้ เราแต่ละคนต้องมีความเชื่อมโยงกับโลกใบนี้ มีความสามารถที่จะหาเลี้ยงชีพ และไม่พึ่งพาคนอื่นให้มาสนับสนุนเราทางการเงิน
วิถีชีวิตที่ผมพยายามสอนนักเรียนของผมคือ การส่งต่อสารที่ผมได้รับเกี่ยวกับการผสมผสานการภาวนาและชีวิตธรรมดาเข้าด้วยกัน เรากำลังสร้างศูนย์ภาวนาและกระท่อมฝึกบนภูเขา และผมหวังว่านักเรียนทุกคนของผมจะได้ใช้เวลาอันมีค่าในรีทรีทในขณะที่ใช้ชีวิตทางโลกไปด้วย แต่รีทรีทเต็มเวลาน่ะหรือ? ผมไม่เห็นว่านั่นเป็นความคิดที่ดีนักสำหรับคนส่วนใหญ่ จากการที่ได้รู้จักคนที่เข้ารีทรีทสามปีมา ผมไม่แน่ใจนักว่านั่นเป็นวิถีที่ทรงพลังที่สุดในการดำเนินชีวิต
ele: แม่ของผมเข้ารีทรีทสามปีตามแบบตรุงปะ รินโปเช เข้าหกเดือนและออกเก้าเดือน วนอยู่อย่างนั้น
ดร.เรย์: เธอผสมมันเข้าด้วยกัน ดีมากเลย
ele: ตรุงปะ รินโปเชเชิญคุณมาที่โบลเดอร์เพื่อให้ช่วยเริ่มสถาบันนาโรปะโดยเฉพาะใช่ไหม?
ดร.เรย์: ทันทีที่ผมได้พบกับรินโปเช ท่านก็เล่นผมทันทีเลย ครั้งหนึ่งท่านเปรยว่าพวกที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกควรอุทิศมันให้แก่ครู ผมคิดว่านั่นหมายถึงการที่ผมต้องทิ้งอาชีพผมไปซะ ผมครุ่นคิดอยู่หลายวัน และผมก็ไปหาท่านแล้วบอกท่านว่า “ผมขออุทิศวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกให้ท่าน ผมจะเลิกเรียนปริญญาเอกเพื่อมาอยู่กับท่าน ช่วยงานท่าน” ตรุงปะหัวเราะ! ท่านปฏิเสธ
ele: แต่คุณเอาจริง
ดร.เรย์: ใช่ “ผมอุทิศชีวิตผมให้ท่าน” จากนั้นไม่นาน ผมก็ไปหาท่านอีก “รินโปเช ผมอยากย้ายมาอยู่ที่กรรมะ โชลิงและเรียนกับท่าน การเรียนปริญญาเอกเป็นสิ่งไร้ค่า” ท่านบอกว่า “วันหนึ่ง ฉันอยากก่อตั้งมหาวิทยาลัย” นั่นเป็นปี ‘71 “ฉันได้คุยกับนักเรียนบางคนไว้แล้วว่าเราจะสร้างมหาวิทยาลัยกัน ปริญญาของเธอจะมีประโยชน์มาก เธอต้องทำมันต่อไป เรียนปริญญาเอกให้จบซะ”
ผมควรจะต้องไปอินเดียเพื่อทำวิทยานิพนธ์ด้วยทุนฟูลไบรท์-เฮย์ส์ ท่านบอกว่า “จงไป และไหนๆ ก็อยู่อินเดียแล้ว ทำไมไม่ลองแวะไปอารามรุมเต็กเพื่อเข้าพบองค์กรรมาปะด้วยล่ะ?”
ปี 1972 ผมจึงอยู่ที่อินเดียโดยไม่มีเรื่องเล่าอะไรมากนัก (ผมเฝ้ารอแต่เวลาที่จะได้อยู่กับครูของผม) แล้วผมก็ได้พบกับองค์กรรมาปะที่ 16
ele: หนึ่งในสามผู้นำของพุทธทิเบต [ร่วมกับดาไลลามะและปันเชนลามะ]
ดร.เรย์: ช่วงต้นปี ‘73 ในที่สุด ผมและภรรยาก็ได้วีซ่าไปสิกขิมจากอินเดีย เรานั่งรถบัสไปที่ตีนเขา ขึ้นเขาต่ออีกแปดไมล์ไปยังอาราม ตอนนั้นยังไม่มีแท็กซี่เราเลยต้องเดินกันขึ้นไป ใช้เวลาคืนหนึ่ง ได้ทานข้าวที่มีเศษกรวดและผักเปื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนที่นั่นทานกัน
ele: พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยชาวทิเบต
ดร.เรย์: ทุกคนจนมาก เป็นประสบการณ์ใหม่ของผม มีคนเดินมาที่ห้องเรา แล้วชี้ๆๆ เราจึงเดินออกไป.. และ … [เงียบนาน] … เรายืนกันอยู่ตรงลานกว้างตอนที่ผมได้ยินเสียงแตรทิเบต มีขบวนออกมาจากตรงมุม แล้วผมก็เห็นท่าน อันที่จริงผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือองค์กรรมาปะ มีพระสองรูปอยู่ด้านหน้า สองรูปอยู่ด้านหลัง แต่เมื่อผมเห็นท่าน … [เงียบ] ผมก็รู้สึกเหมือนสายฟ้าฟาด ผมมองท่านไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วผมก็เริ่มร้องไห้ ร้องหนักมาก ภรรยาหันมามองผมราวกับจะถามว่า “เฮ้ย เป็นอะไรไป?” เราเดินตามขบวนเข้าไปในห้องภาวนา แล้วท่านก็เริ่มทำ black crown ceremony ผมสะอื้นควบคุมตัวเองไม่อยู่ ตลอดระยะเวลา 15 ถึง 20 นาทีนั้น เสื้อผมเปียกชุ่มไปหมด
ele: พิธีกรรมนี้ทรงพลังมาก เป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นกรรมาปะ
ดร.เรย์: จากนั้นผมก้าวขึ้นไปรับพรจากท่าน 33 ปีต่อมาผมก็ยังไม่สร่างดี ผมก้าวขึ้นไป ท่านเอามือวางบนหัวผมในท่วงท่าที่อ่อนโยน นุ่มนวล อย่างที่สุด ผมได้มีโอกาสเข้าพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับท่าน ซิสเตอร์พัลโม ผู้มีบทบาทสำคัญในชีวิตท่านตรุงปะอยู่ที่นั่น เธอเป็นคนช่วยจัดการให้ท่านได้รับทุนไปเรียนต่อที่ออกซ์ฟอร์ด ตอนนั้นเธอเป็นล่ามส่วนตัวให้กับองค์กรรมาปะ ระหว่างคุยๆ กันอยู่ เธอก็บอกว่า “องค์กรรมาปะมีคำทำนายจะบอก” [เงียบยาว] แล้วท่านก็บอกว่า “คุณและภรรยาจะเป็นบิดาและมารดาของพุทธศาสนาในโลกตะวันตก”
มันบ้ามาก ผมยังเป็นแค่นักศึกษาปริญญาเอก เพิ่งเจอท่านตรุงปะไม่กี่ปี ฝึกภาวนาก็ยังไม่มาก คำทำนายดูไร้สาระมาก ซิสเตอร์พัลโมถามผม “เธอเข้าใจคำทำนายนี้ใช่ไหม?” ผมตอบ “เอ่อ …คือผมเข้าใจว่าท่านพูดว่าอะไร” ผมเก็บสิ่งนี้ไว้ในใจตลอดหลายปี “องค์กรรมาปะพูดอะไรของท่านกันนะ?”
แต่เมื่อผมเริ่มพัฒนาตัวเองเป็นครูสอนธรรมะ ซึ่งอันที่จริงก็คือช่วง 15 หรือ 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อผมเข้าใจว่าหนทางที่ผมสื่อสารธรรมะในสายปฏิบัติของเชอเกียม ตรุงปะ มีความพิเศษบางอย่าง ผมก็เริ่มคิดว่า “ก็อาจเป็นได้” เพราะคำสอนของผมจากมุมมองของชาวทิเบตไม่ถือว่า traditional แม้ผมจะรู้ถึงธรรมเนียมปฏิบัติ และใช้มันเป็นพื้นฐานในการสื่อสารธรรมะกับชาวตะวันตกก็ตาม ข้อความสำคัญของตรุงปะคือ ธรรมะไม่ใช่สิ่งที่แยกขาดออกจากชีวิตเรา มันคือหนทางในการสื่อสารถึงชีวิต มันคือหนทางทำความเข้าใจคนที่เราเป็น ซึ่งในมุมมองของผมคือความเป็นคนตะวันตก เมื่อผมสอนในแนวทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ความเห็นขององค์กรรมาปะก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ
ele: ตรุงปะ รินโปเช พูดถึงการที่คนตะวันตกจะเป็นผู้สืบทอดสายธรรม ชาวทิเบตจะไม่ใช่ผู้สอนธรรมะในพุทธศาสนาทิเบตตลอดไป
ดร.เรย์: ท่านตรุงปะปลดปล่อยการยึดติดโดยไม่รู้ตัวกับวัฒนธรรมทิเบต ท่านได้ก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มตัว ทั้งวิธีการที่ท่านสัมพันธ์กับตนเอง กับศิษย์ วิธีที่ท่านพูดถึงอารมณ์ต่างๆ วิธีที่ท่านพูดถึงการที่ปัจเจกบุคคลที่ต้องยอมรับความโดดเดี่ยว … วัฒนธรรมทิเบตมีความเป็นกลุ่มโดยพื้นฐาน ท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงธรรมะในเชิงรูปแบบ การปฏิบัติ หรือพื้นฐานวัฒนธรรม สิ่งที่ธรรมะเป็นและต้องเป็น คือการสะท้อนสถานการณ์ตามกรรมที่วัฒนธรรมนั้นเป็นมา มันต้องสะท้อนถึงพื้นฐานของความลึกซึ้งของความรู้แจ้งและอิสรภาพ ท่านทำเช่นนั้น แน่นอนว่าโดยธรรมชาติแล้วผู้คนที่จะสืบทอดสายปฏิบัติของท่านต้องเป็นชาวตะวันตกที่ฝึกปฏิบัติอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ที่เติบโต และสืบทอดชะตากรรมของวัฒนธรรมนี้เอง การเลือกทายาทธรรม [ของตรุงปะ รินโปเช] ถือเป็นอะไรที่บ้ามากๆ สำหรับหลายคน
ele: การที่ทายาทธรรมของเชอเกียม ตรุงปะ เป็นชาวตะวันตก
ดร.เรย์: โทมัส ริช (Thomas Rich) มองย้อนกลับไปมันก็เป็นทางเลือกที่ชัดเจนที่สุดตอนนั้น
ele: อา แม้ผลของมันเป็นอย่างไรก็เหอะ ชัดเจนว่า Vajra Regent มีกรรมที่เข้มข้น [ Vajra Regent หรือทายาทธรรมติดเชื้อ HIV ส่งต่อไปยังนักเรียนคนหนึ่ง และเสียชีวิตในปี 1990]
ดร.เรย์: พวกเราศิษย์ชาวตะวันตกทุกคนจะตายในกระบวนการนี้กันหมด เราจะตายกันบนบังเหียน เหมือนที่ Vajra Regent ตาย คุณจะโต้แย้งยังไงก็ได้ คุณจะวินิจฉัยทางจิต หรือทางศีลธรรมก็ได้ แต่ความจริงก็คือ Vajra Regent อยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเปราะบางอย่างมาก และเขาก็ไม่อาจรับมือกับ projection ทั้งหลาย ทั้งคำสรรเสริญบูชาและความเกลียดชังจากนักเรียนชาวตะวันตกหลายคนที่มีต่อเขา เพียงเพราะว่าเขาเป็นทายาทธรรมของเชอเกียม ตรุงปะ การเปรียบเทียบ แข่งขัน ความอิจฉาริษยา กดดันเขาให้อยู่ในจุดนั้น และ … ผมคิดว่า [ชุมชนของเรา] เป็นคนฆ่า Vajra Regent
เขาได้สร้างคนวงในรอบๆ ตัวเพื่อคอยปกป้องตัวเอง มันน่าเศร้าที่เขาไม่สามารถข้ามพ้นสถานการณ์นั้นได้ แต่การนำศาสนาหนึ่งมาสู่วัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยแรก เป็นเรื่องเสี่ยงตาย วัฒนธรรมใหม่ไม่อยากรับมัน คุณต้องรับมือกับความวิปลาส ความก้าวร้าว และความหวาดระแวงจากผู้คนที่คุณพยายามสอน ที่ยังไม่พร้อมรับเท่ากับเวลาที่ศาสนาหยั่งรากในวัฒนธรรมได้แล้ว รินโปเชจึงเสียชีวิตในวัยหนุ่ม Vajra Regent ก็เช่นกัน องค์กรรมาปะก็ด้วย มันเป็นความเสี่ยงถึงชีวิต และผมก็คาดว่าตัวเองจะตายในหน้าที่ ผมเตรียมใจไว้แล้ว ผมแน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลย
ele: คือผมคิดว่าเรากำลังเรียนรู้ที่จะดูแลครูของเราให้ดีขึ้น ดังนั้นหวังว่าคุณจะไม่รีบตายนะ รินโปเชกล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า “ฉันมีชีวิตอยู่ได้เพราะนักเรียนของฉัน” ชุมชนของคุณกำลังเติบโต มีการสนับสนุนมากมาย รวมถึงจากคนนอกชุมชนด้วย ทั้งผู้คนที่รู้จักคุณและเคยเรียนกับคุณมา เพื่อนร่วมสังฆะของคุณ สิ่งต่างๆ ดูจะหยั่งรากมากขึ้นแล้ว หวังว่าอย่างนั้นนะ
ดร.เรย์: อื้อ
ele: เราหยุดคุยกันแบบนี้เถอะ
ดร.เรย์: โอเค [หัวเราะ]
[อ่านต่อตอนที่ 3 : https://vajrasiddha.com/reggieinterview3 ]