ไม่เป็นคนดี แต่เป็น “คนจริง” : “นักรบชัมบาลา” เส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์สู่การเป็นตัวของตัวเองที่จริงแท้

THANYA วัชรสิทธา
บทความสะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม “เวทมนตร์แห่งนักรบชัมบาลา : Magic of the Shambhala Warrior” ณ วัชรสิทธา


เวลาพูดถึงนักรบ เราจะนึกถึงภาพคนร่างใหญ่ หน้าตาถมึงทึง ถืออาวุธ อยู่ในศึกสงครามหรือการต่อสู้ เต็มไปด้วยความรุนแรง ดุดัน นั่นเป็นภาพจำของนักรบ แต่หากลองมองอีกแง่หนึ่ง คือในแง่ของคุณสมบัติ นักรบต้องมีคุณสมบัติใดบ้าง?

กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มั่นคง ทรนง เข้มแข็ง …และจริงแท้ต่อตนเอง

แต่ก่อนจะได้คุณสมบัติเหล่านั้นมา นักรบจะต้องผ่านการฝึกตนที่เข้มข้น และในวิถีนักรบชัมบาลา การฝึกนั้นไม่ใช่การฝึกร่างกายให้แข็งแกร่ง แต่เป็นการฝึกเผชิญหน้ากับด้านมืดที่สุดของตัวเองและยอมรับ เพื่อก้าวข้ามไปสู่การเป็นนักรบที่สมบูรณ์


ความหมายของชัมบาลา

ชัมบาลาเป็นดินแดนในตำนานที่มีมานานตั้งแต่ครั้งพุทธกาล บอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์ที่ปกครองดินแดนและคอนเซ็ปต์ของนักรบชัมบาลา เป็นเรื่องราวที่คนสนใจแต่เข้าใจยาก หลายๆ คนที่มาในคอร์สก็เคยอ่านหนังสือ “ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ” กันมาบ้าง แต่เมื่อพี่ณัฐถามว่าใครอ่านรู้เรื่องบ้าง ก็ได้รับคำตอบเป็นเสียงหัวเราะและส่ายหัวรัวๆ กันทั้งห้อง


“สำหรับคนที่ไม่รู้จักชัมบาลา มันเป็นชื่อของตำนานหรือชื่อของอาณาจักรในความเชื่อของทิเบตโบราณ เป็นสังคมหนึ่งที่มีการให้คุณค่ากับการเป็นมนุษย์ การตื่นรู้ ความเปิดกว้าง ความกล้าหาญ การขัดเกลาตัวเอง”

– ณัฐฬส วังวิญญู


ด้วยความที่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนักรบชัมบาลา คืออะไรที่เป็นเชิงคอนเซ็ปต์มากๆ (บทนำเปิดมาก็เจอคำว่า ญาณทัศนะ งง!) ดังนั้นการเข้าใจคอนเซ็ปต์เหล่านี้จึงยากที่จะอาศัยเพียงการอ่าน ตัวพี่ณัฐเองก็เข้าใจบทที่ 3 “ใจที่เศร้าอย่างแท้จริง” จากการมีประสบการณ์อกหัก ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนังสือเล่มนี้จะขึ้นชื่อว่า “อ่านยาก”

แต่กระนั้น พี่ณัฐก็ร่ายเวทย์มนตร์ทำให้เราเข้าใจคอนเซ็ปต์ต่างๆ ของชัมบาลาได้ภายในสามวัน  ใน The magic of the warrior เราเข้าใจคอนเซ็ปต์ผ่านการภาวนา 

สามวันแห่งการฝึกตนของนักรบเริ่มขึ้นแล้ว

Magic of the Shambhala Warrior

นักรบ คือผู้ที่มั่นคง สามารถเอาชนะความกลัวของตน ผ่านการฝึกตน แปรเปลี่ยนสัญชาตญาณแบบสัตว์ (instinct) มาสู่การเป็นมนุษย์ที่มีปรีชาญาณ (intuition/wisdom ) หน้าที่ของนักรบคือการปกป้องสังคม ปกป้องสิ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ที่จะให้พื้นที่กับความรักและการเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ

เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักรบที่เข้มแข็งมั่นคง จะต้องกลับไปสู่การหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์จริงแท้ แม้ว่ามนุษย์จะมีศักยภาพมากกว่าหลายๆ สิ่งในธรรมชาติ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยกตนให้เหนือกว่า ต้องด้อยค่าธรรมชาติลงไป การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติจะช่วยให้เราจริงแท้กับตัวเองมากขึ้น (authentic) ซึ่งนั่นก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของนักรบ 

เพื่อบ่มเพาะคุณสมบัตินักรบเหล่านั้น จะต้องเดินทางไปสามขั้นตอน

  1. Grounding มั่นคงและสงบ อยู่ในสภาวะที่ไม่มีขั้ว
  2. Facing เผชิญหน้า หันกลับไปเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึก ความกลัวที่มีอยู่ข้างใน
  3. Becoming หลอมรวมกับเงามืดนั้น เพื่อขยายเส้นขอบตัวตนเราออกไป


GROUNDING :
Basic Goodness ความดีพื้นฐาน

ความดีพื้นฐาน คือความดี ความงดงามที่มีอยู่แล้วในตัวเอง ตัวผู้อื่น และทุกๆ สรรพชีวิตเท่าที่จะนึกออก เมื่อตระหนักได้ถึงความจริงข้อนี้ การกลับมาจริงเเท้กับตัวเอง ก็คือการกลับสู่ความดีงามนี้ ที่รอคอยเราอยู่แล้วข้างใน ในขณะเดียวกันก็เคารพผู้อื่น เคารพธรรมชาติและสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นความดีงาม 

คอนเซ็ปต์ Basic Goodness ที่พี่ณัฐเล่าให้ฟังนั้นดูงดงามเเละเบิกบานมาก หากเราเข้าถึงความดีพื้นฐานนี้ได้ เสียงของการตัดสินตัวเอง ตัดสินผู้อื่นที่ดังหึ่งอยู่ในหัวตลอดเวลา เช่น ทำไมเราถึงไม่เก่ง ทำไมเราถึงเอาแต่ยอมอยู่ได้ นี่มันโง่มากๆ มันยังไม่ดีพอ คนนั้นเขาไม่ดีกับเราเลย เสียงเหล่านั้นจะกลายเป็นเสียงแสดงความขอบคุณชื่นชมกับสิ่งที่เกิดขึ้น และแสดงความยินดีกับชีวิตที่มีอยู่

ฟังมาสองคอนเซ็ปต์แล้วก็เหมือนจะเข้าใจในระดับเนื้อหา พี่ณัฐพาเราไปต่อจากนั้น ให้เราเข้าใจผ่านประสบการณ์ด้วยการภาวนา

“เราฝึกฝนผ่านการภาวนา ผ่านการปฏิบัติ จริงๆ แล้วมันมีพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน การภาวนาคือการรับรู้สิ่งที่อยู่ในปัจจุบัน เปิดการรับรู้ของตัวเอง แล้วการรับรู้นี้ก็จะทำให้เรามีสติ มีความรู้สึก เซ้นส์ของ boundary หรือขอบเขต ความเป็นตัวเราจะค่อยๆ จางคลายหายไป”

– ณัฐฬส วังวิญญู

เมื่อได้กลับมาอยู่กับร่างกาย อยู่กับลมหายใจ ตั้งแกนกระดูกสันหลังให้ตรง สภาวะที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนจมลงสู่ทะเลสาบจิตไร้สำนึก และที่ตรงนั้น ขอบเขตที่ขีดเป็นเส้นตัวเราก็ค่อยๆ ละลายหายไป เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของอากาศรอบตัว เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ก้นสัมผัส เราเป็นส่วนเดียวกับทุกๆ คนที่กำลังภาวนาร่วมกัน 

ในขณะเดียวกันนั้นเอง การมีอยู่ของเราก็ชัดเจนที่สุด คือเป็นความว่าง

ฟังดูแล้วขัดแย้งกันเอง ในความหมายของความว่างที่กล่าวนั้น คือภาวะที่ตัวเราไม่มีอะไรอื่นมาเจือ เสียงวิจารณ์ คำตัดสิน ความคิดฟุ้งซ่าน กรอบคำนิยาม เมื่อทั้งหมดนั้นหายไป ก็เหลือเพียงความว่าง ที่เป็นตัวตนที่แท้ของเรา ที่ในขณะเดียวกันก็เป็นความไร้ขอบเขตตัวตนด้วย และเมื่อสัมพันธ์กับตัวเราที่เราเป็น ตรงนั้นเองเราจะได้เจอกับ basic goodness 

“พื้นฐานความเป็นมนุษย์มีความดีงามในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปลดหรือไปเพิ่มเลย”

– ณัฐฬส วังวิญญู



Meditation เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ภาวนา

ตลอดเวลาสามวันบนเส้นทางนักรบ เราได้ฝึกตนด้วยการปฏิบัติภาวนา สิ่งนี้เองเป็นเครื่องมือที่พาเราลงไปถึงแก่นของคอนเซ็ปต์ต่างๆ ของชัมบาลา

ในสภาวะของการภาวนา เราได้ผ่อนคลาย (Relax) ได้อยู่ในสถานะผู้รับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา (Recieve) และได้หลอมรวมตัวตน (Reunite)  จากตรงนั้นจะเกิดเป็นการตระหนักรู้ที่เรียกว่า Mindfulness – Awareness ซึ่งจะทำให้เราเชื่อมโยงกับความดีพื้นฐาน กลายเป็นนักรบที่เคารพตัวเองและสรรพชีวิต และสามารถเข้าถึงความรู้จากประสบการณ์อย่างที่คนในชั้นเรียนประสบมาแล้ว

นักรบจึงต้องฝึกตนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเชื่อมต่อกับ “ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์” นั้นนั่นเอง

“..เราหลุดเข้าไปในภาวะ หรือภวังค์ของการไม่มีขอบเขต และความคิดอะไรทั้งหลายมันก็เงียบลง พอความคิดเงียบลงเนี่ย เส้นบางๆ หรือกำแพงที่กั้นเรา โดยปกติความคิดมันจะเป็นตัวกั้นเรากับความจริง เรามักพยายามใช้ความคิดในการเข้าใจความจริง แต่มันมีวิธีการที่ไม่ต้องเข้าใจความจริงผ่านความคิด ก็คือการไม่ต้องคิด กลายเป็นการเข้าถึงความจริงตรงๆ เป็นความเรียบง่าย เป็นความตรงไปตรงมา และภาวะที่เข้าไปถึงตรงนี้มันกว้างขวาง สำหรับผมเอง มันรู้สึกว่าเราไปอยู่ได้ในทุกที่ เราไปอยู่บนพื้น อยู่บนเพดาน ในแสงที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้ามา เราอยู่ในดอกไม้ที่อยู่ในห้อง อยู่ในภาพสัญลักษณ์ของครูบาอาจารย์ เราอยู่กับลมหายใจของพี่ๆ น้องๆ ที่ภาวนาด้วยกัน

มันเป็นภาวะของการ reunion และมันเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ มันเป็นศักยภาพของร่างกายและจิตใจของมนุษย์ทุกคนเลย นั่นคือการยอม การศิโรราบ นั่นคือหนทางในการเชื่อมต่อกับพุทธภาวะ ที่เป็นอิสระจากความคิดใดๆ”

– ณัฐฬส วังวิญญู

อีกหนึ่งการฝึกที่ได้ทำในชั้นเรียน คือการเปล่งเสียง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ทำให้ได้หลอมรวมตัวเองกับผู้อื่น การเปล่งเสียงเป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดในการเอาสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา เช่น เวลาเจ็บก็ร้อง เวลาดีใจก็หัวเราะ เวลาเศร้าก็สะอื้นไห้ ในการฝึกนี้ พี่ณัฐให้เราเปล่งเสียงออกมา เสียงอะไรก็ได้ โน้ตอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีความหมายหรือมีความไพเราะ แค่ปล่อยให้สิ่งที่อยู่ข้างในได้หลั่งไหลออกมา 

กิจกรรมนี้ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ได้หลอมรวมตัวเองเข้ากับผู้คนและพื้นที่ และภาวะนั้นก็นำพาอารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายที่อยู่ลึกๆ ข้างในให้ออกมา เราได้ปล่อยให้ตัวเองจมลงไปกับความโศกเศร้า ความเจ็บปวด หรือความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ห้วงขณะที่ทุกอย่างหลั่งไหลออกมานั้น เสียงของทุกคนกลมกลืนสอดคล้องกันโดยไม่ได้นัดหมาย ดัง เบา สูง ต่ำ ไปในทางเดียวกัน เกิดเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะอย่างบอกไม่ถูก และเปี่ยมไปด้วยพลัง แม้กระทั่งตอนจบ ก็จบลงพร้อมกันโดยที่ไม่ได้สื่อสารกันเลยแม้แต่นิดเดียว ราวกับว่าเป็นการเปล่งเสียงของคนคนเดียวก็ว่าได้

 “..เสียงเนี่ย ในแง่หนึ่ง มันเป็นสิ่งที่จะถ่ายทอดความคิดหรือว่าความรู้สึกออกมา เป็นการ release เป็นการทำงานที่อยู่กับพลังข้างในของชีวิต คำอธิบายอันนึงของการมีชีวิตอยู่คือ การมีพลังชีวิต และพลังชีวิตเนี่ยเป็นสิ่งที่ต้องการปลดปล่อยออกมา เหมือนเราอยากจะออกไปเดิน เหมือนเราอยากจะพูดคุย หรืออยากแสดงออกอะไรบางอย่าง มันคือ manifastation 

พอเราได้ฝึกที่จะเปล่งเสียง เช่นคำว่า อา…. มันเป็นเสียงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคำ มันเป็นตัวแทนของพลังชีวิตบางอย่าง”

– ณัฐฬส วังวิญญู


Cocoon ความเคยชินอันปลอดภัยที่หุ้มห่อผีเสื้อเอาไว้

สิ่งหนึ่งที่นักรบชัมบาลาต้องทำงานด้วย คือดักแด้ที่พันตัวตนไว้ ดักแท้ที่ว่านี้คือความเชื่อ มุมมอง คำนิยามต่างๆ ที่เป็นคำจำกัดความของตัวเราและโลกที่เรายึดไว้อย่างนั้น “ฉันเป็นคนดี” “ฉันเป็นคนสุภาพ” “ฉันเป็นคนขี้โมโห” ซึ่งมีมากมายห่อตัวเราไว้จนมิด ประโยชน์ของดักแด้นี้คือความปลอดภัย ถ้าเราใช้ชีวิตภายใต้คำนิยามเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ก็เป็นความสม่ำเสมอที่ปลอดภัยอย่างหนึ่ง เพราะไม่ต้องนำตัวเองไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่อะไร หลายๆ ครั้งเราจึงเลือกที่จะอยู่ใน comfort zone ของรังแด้นี้

แต่เราต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่ดักแด้ห่อหุ้มอยู่ คือตัวอ่อนที่จะกลายเป็นผีเสื้อ !

เพื่อจะก้าวไปสู่โลกภายนอก ตัวอ่อนจะต้องกัดกินดักแด้ ทะลวงสิ่งต่างๆ ที่พันรัดตัวเอาไว้  เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้เป็นอาหารเสริมพลังตัวตนที่แท้ของเรา และเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะผีเสื้อ กางปีกบินสู่ท้องฟ้าอย่างสง่างาม

“..คำตอบก็คือทิ้งตัวเองลงไปมหาสมุทร ในความหมายเดียวกันว่า ถ้าเรายอมทิ้ง definition หรือความคิดที่เรามีว่าเราคือใคร เป็นอะไร มันจะไปเจอความหมายใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ใหม่กับโลก กับผู้คน มันก็เป็นการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ที่จะไปพบสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ และนี่คือการค้นพบตัวเองที่มากไปอีก มากไปอีก”

– ณัฐฬส วังวิญญู

FACING :

Power of Vulnerable เปราะบางและร่วงหล่น ภาวะที่งดงามและเปี่ยมชีวิตที่สุด

นักรบที่กล้าหาญ ไม่ใช่ผู้ที่ไร้ความกลัว แต่เป็นผู้ที่กล้ายอมรับและเผชิญหน้ากับความกลัวของตนเอง 

ก้าวต่อมาจากการฝึกที่จะเป็นที่ว่างและเปิดรับรู้ความดีพื้นฐาน คือการเผชิญหน้า ซึ่งจุดนี้เอง เป็นก้าวย่างที่ต้องใช้ความกล้าหาญ การที่จะปล่อยให้ตัวเองร่วงลงสู่หุบเหวมืดดำนั้น อยู่นอกเหนือจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่เป็นการฝึกที่สำคัญของนักรบ พวกเขาจะไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ความแข็งแกร่งที่แท้จริงได้ หากไม่ผ่านจุดที่เปราะบางที่สุด

ในชั้นเรียน พี่ณัฐพาผู้เข้าร่วมให้อยู่ในสถานการณ์ บางคนต้องเผชิญหน้ากับผู้ที่มีอำนาจมากกว่าและไม่ยอมฟังเสียง บางคนต้องอยู่ในบทบาทผู้ถูกกระทำ บาดแผลที่เกิดขึ้นในอดีต การเผชิญหน้าเหล่านั้นไม่ใช่เพื่อที่จะสู้ เพื่อที่จะทำร้ายฝ่ายตรงข้าม แต่เพื่อที่จะกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม และนี่คืออีกหัวใจสำคัญของการฝึกตนแบบนักรบชัมบาลา 

เมื่อนักรบอยู่ในจุดนั้น มันคือจุดที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุด จุดที่ยอมให้ความเศร้าเป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดในตัวเรา จุดที่กระแทกกับก้นบึ้งของหุบเหวในจิตใจและร่างทั้งหมดก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ยอมให้ตัวเองร้องไห้มาจากหัวใจ ให้เด็กน้อยในตัวเราสะอื้นสุดเสียง แต่สิ่งที่ทุกคนเห็นกลับไม่ใช้คนที่อ่อนแอขี้แพ้ ภาพที่ปรากฎออกมาคือคนที่กล้าหาญ งดงาม จริงแท้ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต

พลังแห่งความเปราะบางเป็นเวทมนตร์ที่เชื่อมโยงชีวิตเข้าด้วยกัน เมื่อเลิกตั้งเกราะกำบังให้หัวใจ ความเชื่อมโยงก็เกิดขึ้น ความเข้าใจ ความเป็นหนึ่งเดียว ความรัก ความเมตตา ล้วนเกิดขึ้นในตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เราเข้าใจในความเจ็บปวด ความกลัวที่กำลังเผชิญหน้า นำไปสู่การหลอมรวมกับสิ่งนั้นและกลายเป็นตัวเองที่ขยายใหญ่ออกไป

ฟันดาบแห่งเจตจำนง

เมื่อเราตระหนักได้ว่า ตัวเรานั้นไม่ได้แยกขาดกับสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ ในภาวะหลอมรวมที่ได้จากการภาวนา พี่ณัฐพาให้ฝึกที่จะเชื่อมต่อกับพลังต่างๆ รอบตัวเพื่อนำมาเกื้อหนุน ด้วยท่า “ฟันดาบแห่งเจตจำนง”

เริ่มต้นจากกางแขนชูขึ้นเพื่อรับพลังจากฟ้า ที่เปรียบดั่งเป็นบิดาของมนุษย์ มอบสายตาที่เฉียบคมและความกล้าหาญ แล้วลดมือลง รับพลังจากมารดาผืนดิน มอบความมั่นคง ธรรมชาติ ดันมือไปข้างหลัง เชื่อมต่อกับบรรพบุรุษ ครู อาจารย์ ผู้ที่อยู่มาก่อนเรา กางมือออกด้านข้าง เชื่อมโยงกับมิตรที่อยู่เคียงข้าง ยกมือมาด้านหน้า ส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไป จากนั้นก็รวบรวมทั้งหมดขึ้นตั้งเป็นมือท่าฟันดาบเหนือศีรษะ ด้วยพลังจากทั้งหมดที่อยู่ในตัว ฟันดาบที่เป็นตัวเเทนของเจตจำนงของเราลงไปพร้อมออกเสียงให้ดังที่สุด เสร็จแล้วก็อ้าแขนรับทุกผลที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่หวั่นเกรง

ท่าฝึกนี้ทำให้เกิดประสบการณ์ภายในที่น่าประทับใจ บางครั้งการตั้งดาบเจตจำนงไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่ต้องพูดถึงการฟันลงไป แต่พอได้เรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อพลังต่างๆ ที่อยู่รายรอบตัวและขอบคุณจากใจให้สิ่งเหล่านั้น กลับมอบความกล้า ความมั่นคง ช่วยให้ดาบนั้นตั้งตรง พร้อมที่จะฟันลงไปบนประตูอุปสรรคใดๆ ข้างหน้า เราตระหนักได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งและสามารถหยิบพลังเหล่านั้นมาใช้ แต่สุดท้ายแล้ว คนที่ เป็นผู้ฟันดาบเจตจำนงลงไป ก็ต้องเป็นตัวเราเอง

BECOMING

Enthronement บัลลังก์ของราชาและราชินีนักรบ

“ท่าทางของนักรบคือกระดูกสันหลังตั้งตรง หัวไหล่และหน้าอกเปิดออก สง่างามเหมือนราชาราชินีที่นั่งอยู่บนบัลลังก์” 

ณัฐฬส วังวิญญู

ทุกครั้งที่นั่งภาวนาร่วมกัน พี่ณัฐจะให้ทุกคนตระหนักว่า ตัวเองเป็นราชาราชินีที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ ที่นั่งนั้นเป็นที่ของนักรบที่สง่างาม อ่อนโยน กล้าหาญ เปิดกว้าง และจริงแท้ ร่างกายเปิดออกพร้อมที่จะรับสิ่งต่างๆ เข้ามา เป็นภาวะที่ on spot หรือเป็นการที่อยู่กับปัจจุบันขณะ พร้อมที่จะรับมือกับทั้งปัญหา ความยากลำบากที่ปรากฎขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ และในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเปิดรับ  magic เข้ามาเช่นกัน 

การที่จะช่วยให้เราอยู่ในภาวะนี้ คือการ uplift ทำให้ตัวเองเลิกจมอยู่กับกับอะไรบางอย่าง ด้วยการดึงขึ้นมาให้เป็นสภาวะตั้งตรง ไม่ว่าจะด้วยจากภายนอก จัดการตัวเอง อาบน้ำ จัดห้องให้เรียบร้อย ใส่เสื้อผ้าสีสดใส หรือจากภายใน กลับมาตั้งสติ ให้เราอยู่ on spot กับปัจจุบันขณะอย่างตื่นรู้

วิธีการนี้เชื่อมโยงไปถึงแนวคิดอีกอย่างในชัมบาลา คือเรื่อง drala (ดราละ) ทุกๆ สิ่ง ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนมีพลัง (หรือ จิตวิญญาณ) หากเรารับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นและสามารถเชื่อมโยง เราก็จะไม่แยกขาดกับโลกศักดิ์สิทธิ์ และยังสามารถนำพลังเหล่านั้นมาสนับสนุนชีวิตเราให้เติบโตงอกงามได้อีกด้วย เริ่มจากการใส่ใจสิ่งต่างๆ รอบตัว เคารพและเข้าไปสัมพันธ์แบบไม่ก้าวร้าวเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ง่ายๆ เช่นนี้ ก็จะเอื้อให้เกิดภาวะที่เป็นมิตร และพร้อมให้ magic เกิดขึ้น

The Great Eastern Sun

ในเช้าวันสุดท้าย เป็นวันที่เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด เราได้เรียนคอนเซ็ปต์ The Great Eastern Sun กันพอดิบพอดี คำสอนชัมบาลากล่าวไว้ว่า

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระอาทิตย์ก็จะขึ้นทางทิศตะวันออกเสมอ”

ในชัมบาลาที่เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้คือการที่ทุกสิ่งล้วนมีพลังและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน และทุกๆอย่างก็คือศูนย์กลาง เหล่านักรบไม่ต้องกลัวที่จะฉายแสงของตัวเองให้เฉิดฉายออกมา เพราะความตระหนักรู้ถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว และสภาวะความเป็นดวงตะวันของตนเอง เมื่อเราจริงแท้ต่อตัวเองและโลก การอยู่ร่วมกันก็เป็นไปได้โดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือความดีพื้นฐานนั้นเอง

“When you have a brilliant sun, which is a source of vision, the light from the sun shines through every window of the house, and the brightness of its light inspires you to open all the curtains. In the vision of the Great Eastern Sun, no human being is a lost cause.”

– Chogyam Trungpa

สามวันแห่งการเดินทางนี้พาเราไปเรียนรู้คุณสมบัติของนักรบชัมบาลา เรียนรู้ที่จะจริงแท้ต่อตัวเองและสัมพันธ์กับโลกบนความดีพื้นฐาน นักรบแต่ละคนมีประสบการณ์บนหนทางอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำงานกับตัวเองแตกต่างกันออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนกันและกัน โอบอุ้มกันให้เดินทางได้อย่างปลอดภัยในสามวันนี้ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและงดงามไปด้วยความปรารถนาดี

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญเลย การมารวมตัวของทุกคน โมเม้นต์อันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นภายในคลาส และความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทั้งหมดคือ magic ของนักรบชัมบาลา

และทุกคนคือนักรบชัมบาลา