~ Root ~

เรื่องและภาพ โดย KHANOON

สะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม Awakening Self-Therapy กับ สมภพ แจ่มจันทร์ และ วิจักขณ์ พานิช

ถ้าเคยมาเข้าคอร์สของวัชรสิทธา จะต้องเคยได้ยินขนุนพูดถึงการเขียนนิยายบ้างแหละ แม้ว่ามันจะดูเหมือนการใช้ความคิดอย่างงานสร้างสรรค์เชิงอุตสาหกรรมทั้งหลาย บางทีเธอคนนั้นคงจะกำหนดให้ตัวละครดำเนินไปตามเรื่องราวที่วางไว้สินะ?

ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดีสิ (หัวเราะทั้งน้ำตา) เราคงจะเขียนนิยายได้เร็วกว่านี้ อ่านรู้เรื่องมากกว่านี้ Plot Hole ถูกกลบจนหมด และตัวละครมีที่มาที่ไป แต่สำหรับเราการเขียนนิยายคือการทำงานกับตัวเองในระดับลึก เรารู้สึกว่ามันลึกพอๆ กับการภาวนาด้วยซ้ำ มันคือการเดินไปในความไม่รู้ผ่านตัวละครซึ่งมีปมต่างกันออกไป เพื่อให้ความไม่รู้เปลี่ยนเป็นความ ‘รู้’ โดยมีห้องนอนของเรา และหน้าจอโทรศัพท์เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ชุดภาพสั้นๆ นี้อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เราเล่าให้ฟังเลยก็ได้ แม้มันจะเป็นที่ไม่สามารถทำความเข้าใจ หรือให้คำอธิบาย เส้นทางอันมืดมิดซึ่งเราเดินไปก็เต็มไปด้วยความรักละค่ะ   เพราะฉะนั้นไม่ว่าระหว่างทางจะเป็นอย่างไร จุดหมายจะเป็นที่ใด เราขอน้อมรับไว้ด้วยหัวใจเช่นกัน

“จริงๆ กระบวนการ Self-Therapy เป็นอะไรที่ Personal สุดท้ายมีแต่เราคนเดียวเท่านั้นแหละที่จะรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นอยากจะให้กำลังใจว่าทุกคนมีความกล้าหาญ ถ้าพูดในภาษาทางจิตวิญญาณ ทุกคนกำลังมีการเดินทางทางจิตวิญญาณ แล้วมันก็ไม่สามารถจะเปรียบเทียบ วัดผลอะไรที่ตายตัวและชัดเจนได้”

– วิจักขณ์ พานิช

I have something to tell you

Something really important to you

You long to hear…

But I’m buried underground

If you happen to hear a crisp sound,

That is not what I say…

I’m a tree.

I’m a chopped tree.

Then I… become lumber.

A chair maybe?

What is “the perfect form” of me?

If it’s not what I see,

Then what kind of beings I am?

โดยมากแล้ว เมื่อเขียนนิยายสักเรื่องมาถึงตอนจบ มันมักจะไม่ใช่จุดจบที่แท้จริงนะ เหมือนกับว่าเราเดินทางมาแสนไกล แล้วพบประตูอยู่ที่ปลายทาง เส้นทางเดิมสิ้นสุดลง เราเปิดประตูออกไปสู่เส้นทางใหม่ ทุกรอยต่อของการเดินทางอันคล้ายจะต่อเนื่องนี้ คือการก้าวลึกลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงใจกลางหัวใจ

ฟรอยด์ (Sigmund Freud) คือคนแรกที่เชื่อว่าการเขียนช่วยเยียวยาได้ พี่สมภพบอกอย่างนั้น เราที่รักษาชีวิตไว้ด้วยการเขียนนิยายทุกวันก็อยากจะมั่นคงกับความเชื่อนี้ต่อไป

สมัยมัธยม มีนิยายที่เรา ‘คิด’ ไว้มากมาย แต่ที่สุดแล้วมันก็จบอยู่แค่ที่ขั้นความคิด ไม่ได้ลงมือเขียน เราเพิ่งมาค้นพบเอาตอนปี 3 หรือปี 4 ว่าเราไม่สามารถโกหกตัวเองได้ เพราะฉะนั้นทุกๆ ครั้งที่ใช้ความคิดแต่งเรื่องขึ้นมา ข้างในตัวเราจะ ‘สาป’ ให้เราไปต่อไม่ได้

ในตอนที่เริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้าครั้งแรก คลื่นความคิดรบกวนถูกตัดออก เหลือแค่เสียงตรงจากใจ เราสามารถเขียนนิยาย 1 ตอนได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง เพราะความรู้สึกมันเข้มข้นมาก เราเห็นอย่างชัดเจนว่าตัวเองเจ็บปวดเรื่องอะไรในงานเขียน

เทคนิคการเขียนซึ่งคิดค้นโดยฟรอยด์มีชื่อว่า ‘Free Association’ แปลเป็นไทยว่า ‘การเชื่อมโยงอย่างอิสระ’ เราเขียนทุกๆ อย่างที่โผล่ขึ้นมาในใจโดยไม่เซ็นเซอร์ ไม่สนว่ากลุ่มก้อนอันกระจัดกระจายนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือสมเหตุสมผลหรือไม่ วิธีนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงอย่างอิสระ ไม่มีการย้อนกลับไปขีดฆ่า มือทำหน้าที่เดียวคือไล่กวดเสียงภายในซึ่งพรั่งพรู จะเขียนทันหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าหลังเราวางปากกา แล้วถอยหลังออกมาดู

เมื่อก่อนเวลาเราเขียนเสร็จสักตอน แล้วกลับมาอ่านอีกรอบ มักจะเป็นการอ่านเพื่อซึมซาบอารมณ์ และถอดรหัสว่าตัวละครต้องการจะบอกอะไร ไม่ค่อยมีการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นกลับมาสู่ประสบการณ์ภายในเท่าไหร่ ดังนั้นกว่าจะรู้ว่าตัวเองเดินวนเวียนอยู่ในปมใด ก็ผ่านมาแล้วหลายเดือน บางคราวก็ใช้เวลาหลายปี ตอนที่เดินกลับมาเจอสิ่งนั้นอีกครั้ง

ตอนนี้จะให้เขียนทุกอย่างที่อยู่ในใจออกมาตรงๆ ก็ทำไม่ได้แล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องดีหรือไม่ดี เราก็แค่ได้พบว่าความรู้สึกที่ ‘ชัดเจน’ เหล่านี้ ไม่ใช่ ‘ความจริง’ ในส่วนลึกที่สุดของใจ กว่าจะเขียนจบสักตอนก็ต้องถอดรหัสเป็นสัปดาห์ (น้ำตาไหลนอง)

เปลือกความรู้สึกห่อคลุมสิ่งซึ่งใจแสวงหา กอดเก็บความเปราะบางไว้มิดชิด เราโกรธเกลียดโลกใบนี้ สิ้นหวัง ไม่ไว้วางใจในความสัมพันธ์ ร้องหาความรัก เฝ้าฝันถึงความตาย ความจริงในระดับพื้นผิวนี้ปรากฏขึ้นซ้ำๆ ราวกับว่าเราเขียนเรื่องเดิมที่มีรายละเอียดต่างออกไป ไม่มีการค้นพบอะไรใหม่ๆ สิ่งที่อยู่ลึกกว่าจึงส่งเสียงร้องอย่างเอาแต่ใจ และดื้อรั้นให้กลับไปหา และรับรู้มันสักที

หลังท่องอยู่ในภพภูมิแห่งความรู้สึกมานมนาน เราไปเยือนพิภพแห่งร่างกายเป็นลำดับถัดไป เราพบว่าบางทีความรู้สึก กับการรับรู้ทางร่างกาย (Felt Sense) ก็ไม่สัมพันธ์กัน จุดขัดแย้งนี้เปิดช่องทางให้เราเข้าไปสำรวจต่อ

เมื่อเราเขียนถึงความสิ้นหวัง เรากลับรู้สึกปลอดโปร่งที่หัวใจ ความสิ้นหวังไม่ได้ต้องการป่าวประกาศว่าตัวเองสิ้นหวังมากเท่าไร มันแค่อยากบอกว่ามีสิ่งที่ฉัน ‘ให้ความสำคัญ’ อยู่นะ

ความขัดแย้งไม่ได้ทำให้ความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งกลายเป็นความ ‘ไม่’ จริงขึ้นมา หากเราอยู่แค่กับหัวใจอันปลอดโปร่ง ก็คงไม่ต้องเขียนนิยายให้เสียเวลา เราจะต้องเยียวยาอะไรถ้าใจสงบดีอยู่แล้ว? ถ้าเราอยู่แค่กับความสิ้นหวัง คงไม่รู้ว่าตัวเองสามารถ ‘Hold Tension’ ระหว่างความปรารถนาที่จะตาย กับความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ และใช้ชีวิตต่อไปได้

ปัจจุบัน เรายังคงเขียนถึงความเจ็บปวด ความโศกศัลย์ และความตาย ทุกเรื่องเปี่ยมด้วยรัก และแสงแห่งหวัง เราชอบเรื่องราวที่ทั้งขมขื่น และงดงามประมาณนี้แหละค่ะ

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน