บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
ถอดความจาก Avalokita Talk #14
What is Real Love คลี่หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ โดย Gil Alon
อวโลกิตะทอล์ค ครั้งที่ 14 วันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา พื้นที่ภาวนาชั้นเก้ากลางเมืองหลวงได้มีโอกาสต้อนรับ ครูกิล Gil Alon ธรรมาจารย์เซน ชาวอิสราเอล นักร้อง นักแสดงละครเวที ผู้กำกับ ครูสอนการแสดง และนักจัดกิจกรรมเวิร์คชอปความคิดสร้างสรรค์และการเดินทางภายใน อวโลกิตะค่ำคืนนี้อบอุ่นไปด้วยบรรดาลูกศิษย์และผู้สนใจมาร่วมพื้นที่แลกเปลี่ยนความรักความกรุณา
หัวข้อบรรยายในครั้งนี้ คือ “What is Real Love? คลี่หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” ครูกิลพาเราสำรวจความรัก ที่มาของความรักที่เรามีให้แก่กัน ความรักอันไร้เงื่อนไขในความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบ ผ่านการบรรยายและพูดคุยกันสบายๆ (ในภาษาอังกฤษ ทำให้อวโลกิตะดู international ขึ้นมาทันตา)
วิทยาศาสตร์ จิตวิญญาณ ความเป็นหนึ่ง และความรัก
“ปกติแล้วถ้าถามว่าความรักคืออะไร ฉันจะบอกว่า เราต้องจัดงานสัมมนาสักสองสัปดาห์เพื่อพูดกันเรื่องนี้”
ครูกิลเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับความรัก แม้ว่าศาสตร์นี้กับศาสตร์ทางด้านจิตวิญญาณดูจะเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง แต่ในช่วงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนี้ ศาสตร์ทั้งสองเริ่มโน้มเข้าหากันและทำงานร่วมกัน นักวิทยาศาสตร์และผู้ศึกษาเรื่องจิตวิญญาณเริ่มตระหนักได้ว่าทั้งสองสิ่งนำไปสู่บทสรุปเดียวกัน
“อะไรคือสิ่งที่วิทยาศาสตร์ และศาสนา-จิตวิญญาณมีร่วมกัน ทั้งคู่ค้นหาคำตอบว่า ‘ชีวิตคืออะไร’ ‘ความจริงคืออะไร’ เราอาจเข้าใจว่า ศาสนาและจิตวิญญาณมองหาคำตอบจากข้างใน และวิทยาศาสตร์หาจากข้างนอก แต่แล้วก็พบว่ามันเป็นคำตอบเดียวกัน”
เพื่อที่วิทยาศาสตร์จะหาคำตอบว่าสิ่งต่างๆ คืออะไร พวกเขาทำให้ชิ้นส่วนเล็กลงไปเรื่อยๆ อะตอมซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ต่อมาควอนคัมฟิสิกส์ก็พบว่า ภายในอะตอมยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก เล็กลงไป จนสุดท้ายพวกเราก็พบว่า ในส่วนที่เล็กที่สุดนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย
“ถ้าหากพูดให้จับต้องได้ พวกเขาค้นพบกับพลังงาน ความน่าสนใจคือทุกสิ่งทุกอย่าง กิ่งไม้ หมอน ตัวฉัน ถนน หมา แมว ก้อนเมฆ ถ้าย่อยให้เล็กละเอียดไปที่สุด เราจะพบกับความว่างที่มีพลังงาน ซึ่งเป็นพลังงานเดียวกัน แตกต่างกันด้วยแรงสั่นสะเทือน ความถี่ การควบแน่น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นพลังงานเดียวกัน”
และในขณะเดียวกัน เหล่าผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณก็ค้นพบสภาวะนี้ผ่านการใคร่ครวญภายใน พวกเขาค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘oneness’ ความเป็นหนึ่งเดียว “หากนักวิทยาศาสตร์วิ่งเอาสิ่งที่พวกเขาเพิ่งพบเจอไปเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ท่านคงบอกว่า เราบอกพวกเธอไปแล้วเมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน” ความเป็นหนึ่งเดียวนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งเหมือนกันไปหมด แต่ทั้งหมดมีพลังงานเดียวกัน ในระดับความหมายแก่นแท้ที่ลึกที่สุดนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน ในทุกๆ ศาสนา ไม่ว่าจะกระแสหลักหรือรอง ทุกๆ สายปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ล้วนแต่มีความจริงสูงสุดนี้ร่วมกัน
“และพวกเราทุกคนรับรู้สิ่งนี้อยู่แล้วลึกๆ ข้างใน ด้วยปัญญาดั้งเดิมตามธรรมชาติของเรา เพราะเราทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเราล้วนมีความฝัน มีความกลัว ล้วนปรารถนาความรักและอ้อมกอด สุดท้ายแล้วมันเป็นพลังงานเดียวกัน นี้คือสาเหตุที่เมื่อเราดูละคร แล้วร้องไห้ตามตัวละครในนั้น เวลาใครโดนมีดบาดเราเจ็บตาม เพราะเราเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด”
Ignorance – แสร้งว่าไม่รับรู้
ครูกิลวาดภาพความเป็นหนึ่งของตัวเรา ผู้อื่น และสรรพสิ่ง ด้วยแนวคิดทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ แล้วอะไรกันคือสิ่งที่ขวางไม่ให้เราเข้าถึงความรู้นั้น ในหลายๆ คำอธิบายทางศาสนามักใช้คำว่า อวิชชา หรือ ignorance ครูกิลเสนอมุมมองใหม่ต่อสิ่งกั้นขวางตัวเรากับความจริงไว้อย่างน่าสนใจ
“หลายๆ คำอธิบายของ อวิชชา พูดว่า ความเขลา ขาดความรู้ แต่ฉันอยากจะเสนอคำอธิบายใหม่ ในภาษาอังกฤษ คำนี้มาจากความว่า ignore หมายความว่า แสร้งทำว่าไม่มีอะไรอยู่ เช่นนั้น เราล้วนรับรู้อยู่แล้วกระทั่งระดับจิตใต้สำนึก ว่าเราล้วนเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เราทำเป็นไม่รับรู้ ทำเป็นว่าแยกขาดจากกัน และพอเรามาพูดกันในความหมายนี้ นั่นหมายความว่าเราต้องรับผิดชอบความไม่รู้นี้ของเรา เพราะมันไม่ได้เกิดจากการไม่มีสติปัญญา แต่มันเกิดจากการเพิกเฉยของเรา”
ทะลวงผ่านม่านหมอกนี้ไป เราล้วนเชื่อมโยงถึงกัน การลวงหลอกทางจิตวิญญาณใดๆ คือการแยกขาด วิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์แล้วว่าทั้งหมดคือสนามพลังงานอันยิ่งใหญ่ที่สั่นพ้องไปด้วยกัน ราวกับมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยเกลียวคลื่นล้อกันไปมา ตัวเรา ยุง หมา แมว ต้นไม้ ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน
“แต่ละศาสนา แต่ละสายปฏิบัติ มีคำเรียกให้กับพลังงานนี้ต่างกัน บ้างเรียกว่าพลังงาน บ้างเรียกว่าชีวิต หนึ่งในนั้นเรียกว่าพระเจ้า บ้างเรียกว่า ‘ความรัก’ อันเป็นพลังงานขับเคลื่อนทุกสิ่ง
“เราเริ่มจากความเข้าใจในทางสติปัญญา แต่ในเชิงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน เราสามารถไปถึงจุดที่มีประสบการณ์กับสภาวะแห่งความเป็นหนึ่งนั้นได้ และไม่ใช่แค่จากการปฏิบัติในทางที่เขาแปะป้ายว่า ‘จิตวิญญาณ’ เราสามารถมีประสบการณ์ผ่านการเดินทาง การทำสวน การดูแลสัตว์ อะไรก็ได้”
“เมื่อเรารับรู้ถึงความเชื่อมโยงและความเป็นหนึ่ง นั่นหมายความว่า เธอคือฉัน ฉันคือเธอ แน่นอนเราแตกต่างกัน แต่เรามีพลังงานเดียวกัน เมื่อเราเข้าใจสิ่งนี้ มีประสบการณ์กับสภาวะนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำสิ่งแย่ๆ กับผู้อื่น เพราะเธอคือฉัน และฉันก็คือเธอ มันจริงแท้มาก หากรับรู้ว่าตัวเราและน้ำเป็นหนึ่งเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้แม่น้ำปนเปื้อน เป็นไปไม่ได้จริงๆ แต่ถ้าหากเราทำลายแม่น้ำ นั่นคือเราแสร้งเมินเฉยต่อความเชื่อมโยง” มีตัวอย่างอีกมากมายที่ทำให้เรารับรู้ถึงความไม่แยกขาด ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อกันและกัน ภัยพิบัติ โรคภัย โลกร้อน พฤติกรรมการบริโภค
พื้นฐานความเป็นหนึ่งเดียวนี้ นำไปสู่พลังงานที่เรียกว่า ความรัก
Love – พลังงานพื้นฐานแห่งสรรพสิ่ง
“ครูเซนคนแรกของฉันกล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดในชีวิต คือความสัมพันธ์ รองลงมาคือการตรัสรู้”
ครูกิลพาเราเดินทางต่อมาถึงความรัก จากประสบการณ์การเดินทาง การได้พบเจอผู้คนมามากกว่า 64 ประเทศ สัมผัสวัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิตที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ ครูก็ค้นพบความจริงอย่างหนึ่ง “กว่า 99 เปอร์เซนต์ ของผู้คนที่ฉันพบเจอ เวลาพูดว่า ‘ฉันรักเธอ’ ความหมายของเขาคือ ‘เธอเป็นของฉัน’ และสำหรับฉัน นี่ไม่ใช่ความรัก นั่นคือทรัพย์สิน คือการครอบครอง ซึ่งนั่นเป็นปัญหานะ เราจะสามารถรักโดยไม่เป็นเจ้าของ โดยปราศจากเงื่อนไขได้อย่างไร และความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมาจากไหน? จากทัศนะผิดๆ ว่าเราแยกขาดจากกัน และเราสามารถเป็นเจ้าของผู้อื่นได้ ซึ่งขัดแย้งกับคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนาที่ว่า ไม่มีอะไรเป็นของเธอ”
ในทุกที่ล้วนมีการพูดถึง “ความรักอันไร้เงื่อนไข” มันเป็นไปได้จริงหรือ ในโลกสมัยใหม่ที่เราต้องมีรถ มีบ้าน มีทรัพย์สมบัติ เราจะสามารถรักใครโดยไม่มีความรู้สึกครอบครองได้จริงหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น เราจะสามารถบ่มเพาะความรักแบบนี้ให้เกิดขึ้นในชีวิตเราได้อย่างไร
“เวลาเราพูดถึงความรัก มันมีหลากหลายรูปแบบ ตกหลุมรัก เจอแล้วเธอผู้เป็นหนึ่งเดียวในชีวิตของฉัน และรักที่ไม่ต้องตกหลุม รักสิ่งที่ทำ รักผู้คน รักสัตว์ รักธรรมชาติ เยอะแยะมากมาย
“เราพูดถึงรักในผู้อื่นก่อน ฉันถามเสมอว่า มันเป็นไปได้ไหมที่จะเป็นรักไร้เงื่อนไข มันดูจะไม่เป็นจริงเลย เพราะเราพูดว่ารักในความหมายว่า เธอเป็นของฉัน เราหึงหวง อิจฉาริษยา สำหรับฉันแล้ว ความรักที่ไร้เงื่อนไขคือ เมื่อไหร่ที่พูดคำว่า ฉันรักเธอ จะต้องไม่ตามมาด้วยคำว่า ‘แต่’ หรือคำว่า ‘ถ้าหาก’ เช่น สามีพูดกับภรรยา ฉันรักเธอ แต่เธออย่าไปเที่ยวคลับทุกวันพุธเลย พ่อพูดกับลูก พ่อรักลูก ถ้าหากลูกรับช่วงต่อกิจการครอบครัวเรา …นั่นไม่ใช่ความรัก นั่นคือการครอบครอง”
การรักใครสักคนหนึ่งคือการมอบอิสระให้แก่เขา ทว่าท่าทีในการอยู่ร่วมกัน ผู้คนช่วงชิงอิสระไปจากกันเป็นพื้นฐาน ครอบครัว โรงเรียน รัฐ ศาสนา พวกเขาล้วนสร้างกรอบอันจำกัดให้ผู้ที่อยู่ร่วมพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่า เราทำเพราะรักเธอ ทำเพื่อปกป้องเธอ “คนมักเข้าใจไปว่าการมอบอิสระจะสร้างความวุ่นวายปั่นป่วน ฉันก็พูดเสมอว่าลองเปิดทีวีดูข่าวสักช่องสิ มันปั่นป่วนกันไปหมดอยู่แล้ว”
คู่รัก เพื่อนร่วมเส้นทางการสำรวจชีวิต
“ทำไมคนรักต้องอยู่ด้วยกัน? หน้าที่ของคู่ไม่ใช่มาเติมเต็มหลุมดำของความเหงาที่เธอมี มันไม่ยุติธรรม การอยู่ด้วยกันของคนทั้งคู่คือเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่งเสริมกันและกัน สำรวจชีวิตไปด้วยกัน ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้จากความรักและความเป็นเพื่อนที่ลึกซึ้ง ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ‘บ๊ายบาย..แยกย้าย’ แต่ผู้คนกลัวการจากลานั้นและจมอยู่ด้วยกันต่อ แทนที่จะมอบความขอบคุณต่อการเดินทางที่ผ่านมาของเราสองคน และแยกย้ายกันไปสู่เส้นทางใหม่”
ครูกิลเดินทางไปในหลากหลายประเทศ ใช้ชีวิตในบ้านของหลายครอบครัว เห็นตัวอย่างของชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัว บางบ้านน่ารักอบอุ่น หลายบ้านครูบอกว่า โชคดีเหลือเกินที่ฉันไม่ได้เกิดในครอบครัวนี้ ครูเล่าว่า บ้านที่ประทับใจที่สุด คือบ้านที่เลี้ยงลูกด้วยความรักที่เปิดกว้าง มอบอิสระ และไม่ติดอยู่กับกรอบสังคม กรอบค่านิยมที่รอบข้างยึดถืออย่างเหนียวแน่น
กรอบหนึ่งที่คนมากมายติดหนึบอยู่ คือการที่ไม่หย่ากันเพื่อลูก มองว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพ่อแม่ จะทำให้ลูกมีความสุข “แต่จริงๆ แล้วเด็กๆ น่ะคือเซนมาสเตอร์ พวกเขารู้ดีว่าบรรยากาศมันย่ำแย่ และพ่อแม่กำลังพยายามแสดงอยู่”
“เราจะบ่มเพาะความรักที่ว่าได้อย่างไร คำตอบคือด้วยการพูดคุย นำทุกอย่างมาแผ่บนโต๊ะ เปิดใจอย่างหมดจด ไม่ใช่เงียบใส่กัน เว้นระยะห่าง หรือทำเป็นว่าทุกสิ่งมันโอเค โปรดเปิดใจ นี่คือวิธีที่เราบ่มเพาะความรัก และแน่นอน บนพื้นฐานของความรักและความเป็นเพื่อน“
“เธอจะรู้สึกอยากพบหน้าอีกคนพรุ่งนี้ มะรืนนี้ และทุกๆ วันข้างหน้า จำไว้เสมอว่ามันไม่ใช่การครอบครอง ความรักคือการให้อิสระแก่อีกฝ่าย”
ลูก ครูผู้พาพ่อแม่เฉลิมฉลองกับชีวิต
ความรักอันยิ่งใหญ่ต่อมาคือความรักที่มีต่อลูก การตัดสินใจจะมีลูกไม่ใช่เพื่อให้มีคนมาดูแลในยามแก่ นั่นเป็นเหตุผลที่เห็นแก่ตัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ “เธอรู้ไหมว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งเกิด คือเซนมาสเตอร์คนหนึ่งเกิดมาและเข้ามาอยู่ในชีวิตเธอ ผู้คนมักคิดว่าหน้าที่ของผู้ปกครองคือเป็นครูและผู้คอยชี้นำให้ลูก นั่นแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น อีกครึ่งคือเด็กคนนั้นก็เป็นครูของเธอเช่นกัน เขาจะสอนให้เธอรู้จักความรักอันไร้เงื่อนไข สอนความสร้างสรรค์ สอนการอยู่กับปัจจุบันขณะด้วยความสดใหม่ สอนความสงสัยใคร่รู้ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง สอนสิ่งทั้งหลายที่เธอได้ลืมมันไป และเหตุผลในการมีเด็กสักคน ก็คือเพื่อที่จะเติบโตและเรียนรู้ไปด้วยกัน”
ด้วยท่าทีที่ครูกิลนำเสนอแก่พวกเรา ความสัมพันธ์กับลูกจะไม่มีระยะห่างที่หนาวเย็น พ่อแม่และเด็กจะร่วมเดินทางสำรวจโลก สำรวจชีวิตไปด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดในความสัมพันธ์คือ เด็กกลัวพ่อแม่ของเขา เมื่อพื้นที่อันควรจะปลอดภัยที่สุดกลายเป็นฝันร้าย เด็กคนนั้นจะไม่สามารถเติบโตได้ เขาจะตัวเล็ก ไร้พลังอำนาจ ไร้ความอบอุ่น นั่นไม่ใช่ความรักที่มอบอิสระให้กับลูกเลย
“แล้วเราจะเติบโตด้วยกันอย่างไรละ เวลาลูกของเธอเข้ามาหาพร้อมกับคำถามที่เธอเองก็ตอบไม่ได้ เธอจะสามารถพูดว่า พ่อแม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ลูกรู้มั้ย? และรับรองได้เลย เธอจะพบกับสิ่งที่งดงามน่าตื่นตาจากคำตอบของลูกๆ เธอ” หากแต่ละคนเลี้ยงลูกด้วยความรักในแบบที่เราคุยกันคืนนี้ จะไม่มีเด็กที่ต้องเติบโตมาด้วยความหวาดกลัว หรือภาระหนักอึ้งของความคาดหวัง และพ่อแม่ก็จะได้เดินทางเติบโตไปกับครูทางจิตวิญญาณตัวน้อย สู่การอยู่ในโลกที่สดใหม่และเป็นอิสระจากกรอบคิดเดิมๆ
“ทั่วโลก เรามีละครเกี่ยวกับความรัก บทกวี เพลง หนังสือ เพราะนั่นคือสิ่งที่ทุกคนโหยหา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่แสดงออกมายากที่สุด”
ในค่ำคืนนี้ ครูกิลพาให้พวกเรานั่งลงและทบทวนสิ่งที่เรียกว่าความรัก สิ่งที่เป็นพลังพื้นฐานที่สุดที่มนุษย์มีร่วมกัน จากแก่นกลางของความเป็นหนึ่งเดียวในทุกสรรพสิ่ง และพาเข้ามาใกล้ขึ้น ผ่านรูปแบบของความรักระหว่างคู่รัก ระหว่างลูกและพ่อแม่ แนะนำให้รู้จักที่จะบ่มเพาะหัวใจแห่งความรักที่เปิดกว้างไร้เงื่อนไข ส่งทุกคนจบค่ำคืนไปด้วยหัวใจที่คลี่ออก อ่อนนุ่ม สว่างไสว เต็มไปด้วยความรัก มิตรภาพ อ้อมกอดและรอยยิ้ม
ประเด็นเล็กๆ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน
- การเสียสละ
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำสิ่งที่เรารัก เราจะไม่ต้องเสียสละเลย การเสียสละจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเธอต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนอื่นก็จะรับรู้ได้ว่าเธอกำลังเสียสละอยู่ กำลังทรมานอยู่ เธอจะกลายเป็นใจกลางความสนใจ และนั่น สำหรับฉันคือการเห็นแก่ตัว”
- ไม่ประนีประนอม
“การประนีประนอมไม่ใช่ความรัก เพราะเมื่อเรารักสิ่งใด เราจะมุ่งไปให้สุด และในการอยู่ร่วมกันเราก็จะไม่ประนีประนอม แต่หาวิถีทางที่จะอยู่โดยที่ต่างฝ่ายต่างได้เติมเต็มสิ่งที่เขารักเช่นเดียวกัน”
- Commitment
“ก่อนอื่นเลย ฉันไม่ต้องการให้ใครอยู่กับฉันเพียงเพราะการผูกมัด เพราะนั่นเกิดจากการที่ต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำอะไรสักอย่างด้วยความรักที่แท้จริง เราไม่ต้องทำการผูกมัดเลย มันจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เราจะใส่ใจ จะเฝ้าดูแล จะอยู่กับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ด้วยหัวใจของเรา ความผูกพันที่แข็งแรงจะเกิดขึ้นมาเอง”