บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
จากสถิติการสำรวจ ชื่อคนไทยที่มีคนใช้ซ้ำกันมากที่สุด ได้แก่ ประเสริฐ สมศักดิ์ วันเพ็ญ สมศรี
แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า หนึ่งในชื่อที่คนทิเบตใช้ซ้ำกันมากที่สุด คือชื่ออะไร? รับรอง ไม่มีใครทายถูกแน่ๆ
คำตอบคือ “กรรมะ”
ในบ้านเรา คุณคิดว่าจะมีใครอยากตั้งชื่อลูกว่า “กรรม” ไหม? 555
ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด “กรรม” จึงถูกปู้ยี่ปู้ยำเสียจนช้ำ คนไทยใช้ “กรรม” กันอย่างสะเปะสะปะ ไม่สนใจความหมายที่แท้จริงของมัน กระทั่งหลงเหลือแต่ความหมายในทางลบ คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีปฏิกิริยาสุดโต่งต่อคำว่ากรรม ทางหนึ่งก็สยบยอมต่อความเชื่อเรื่องกรรม หรืออีกทางก็ปฏิเสธกรรมไปเลย
กรรม กับความหมายลึกซึ้ง ที่เป็นกลางๆ
จริงๆ แล้ว คำว่า “กรรม” ไม่ใช่คำที่ให้ความหมายในทางลบ กรรม คือการกระทำ กฏแห่งกรรม ก็คือกฏที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเหตุและผลของการกระทำ เมื่อทำอะไร ย่อมมีผลของการกระทำเกิดขึ้น ยิ่งเมื่อพุทธศาสนานำมาใช้ในการทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของสภาวะธรรมที่ละเอียดด้วยแล้ว กฏแห่งกรรมจึงเปรียบได้กับกฏแรงโน้มถ่วง และเป็นคำสำคัญที่ใช้อธิบายความเป็นจริง (reality) ในแบบที่เป็นกลางๆ และเป็นสากล
เกิดมามีกรรม
อย่างคำว่า “เกิดมามีกรรม” ก็ไม่ได้มีความหมายในทางลบ แต่ใช้ในการอธิบายว่า เราล้วนเกิดมาด้วยต้นทุนที่ติดตัวมาแตกต่างกัน เหตุการณ์เดียวกันเกิดขึ้น แต่ละคนมีความรู้สึกบวก ลบ หรือเฉยๆ ต่างกัน มีปฏิกิริยาอาการต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตรุนแรงต่างกัน ยังไม่นับว่าเรามีหน้าตาไม่เหมือนกัน ข้อเด่นข้อด้อย ศักยภาพ ข้อจำกัด รวมถึงบริบทครอบครัว การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อบุคลิก นิสัย ไม่มีเหมือนกันอีกด้วย กรรมเปรียบเสมือนลายนิ้วมือของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน พุทธศาสนากล่าวว่า เอกลักษณ์ของแต่ละชีวิตคือกรรมในปัจจุบัน ที่เป็นผลมาจากกรรมในอดีต ส่วนกรรมในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างกรรมในปัจจุบันไว้เช่นไร
การยอมรับความเป็นจริงในชีวิตของตัวเอง โดยไม่ตัดสินหรือเอาไปเปรียบเทียบกับใคร คือการเข้าใจความหมายของคำว่า “เกิดมามีกรรม” การยอมรับทำให้เราสัมพันธ์กับทุกอย่างที่เรามีและเป็นอย่างเต็มที่
อาจกล่าวได้ว่า กรรม ทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง
ปัญหาของ “กรรม” ในทางประเพณีวัฒนธรรม
จริงๆ คำสอนเรื่องกรรมนั้น empower สุดๆ ไปเลย สมมติว่า เราเกิดมามีอวัยวะเพศชาย แต่เพศสภาพของเราเป็นหญิง เราสามารถใช้ความเข้าใจเรื่องกรรม ในการยอมรับเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดของเราในฐานะสถานการณ์เฉพาะที่เรากำลังเจออยู่ในชาตินี้ชีวิตนี้ ส่วนคำตัดสิน แรงกดดัน การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ก็สามารถถูกมองแยกเป็นกรรมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นกรรมของเราเองโดยตรง แต่ก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับตัวตนของเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมาในครอบครัว สังคม หรือวัฒนธรรมที่ไม่ยอมรับเพศสภาพของเรา หรือการที่ต้องเจอแรงกดดัน การกดทับ หรือการตีตราลดทอนคุณค่า
ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดในคำสอนเรื่องกรรมในพุทธศาสนาคือ การเป็นตัวเอง ซึ่งถือเป็นการยอมรับ “กรรมส่วนบุคคล” (personal karma) แล้วจึงค่อยๆ ใช้พลังอำนาจในการยอมรับตัวเองนั้น ทำงานกับ “กรรมทางสังคม” ซึ่งเป็นผลจากมุมมองอันคับแคบที่ส่งต่อๆ กันมา ยิ่งในมุมมองแบบประชาธิปไตย เราสามารถมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแปรเปลี่ยนมุมมองอันคับแคบนั้นได้
โดยมาก เรามักเอากรรมทางสังคม ที่แปดเปื้อนไปด้วยความเชื่อหรืออคติอันคับแคบ ไปตีความกรรมส่วนบุคคล เช่น การเกิดมาเป็นคนพิการ แสดงว่ามีกรรม (ไม่ดี) เป็นผลจากกรรม (ไม่ดี) ที่เคยทำมาในอดีตชาติ หรือการเกิดมาเป็น LGBTQ+ ก็เป็นผลจากกรรมไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตชาติเช่นกัน คำสอนเรื่องกรรมที่ถูกนำมาใช้อย่างผิดๆ เช่นนี้ เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และเสริมสร้างอำนาจของการกดขี่ทางวัฒนธรรมที่กระทำต่อปัจเจกบุคคลอย่างเลวร้าย
ชีวิตนี้เราเกิดมามีกรรมเช่นไร เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถกำหนดได้ แต่การจะกระทำกรรมใดในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ ไม่ว่าสังคมจะให้คุณค่ากับสิ่งที่เราเป็นหรือไม่อย่างไร เราก็เป็นเราและไม่สามารถเป็นคนอื่น ดังนั้นคำสอนเรื่องกรรม เมื่อถูกนำมาใช้อย่างเข้าใจ จะทำให้เรา “จริงแท้” กับสิ่งที่เราเป็นในชีวิตนี้และในตอนนี้ และมีอิสรภาพที่จะกระทำการอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความเข้าใจตัวเองได้ จุดเริ่มต้นของการยอมรับกรรมในปัจจุบัน เป็นผลให้เรามีอิสรภาพในการเลือกที่จะกระทำสิ่งใดที่จะมีผลต่อกรรมของเราในอนาคต
Karma & Karmic Situation
กรรมเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล สัมพันธ์อย่างสอดรับกับ “สถานการณ์กรรม” ที่คนคนนั้นกำลังเผชิญอยู่ โดยมากแล้ว หากเรายังไม่สามารถยอมรับตัวเองได้ เราก็มักรู้สึกว่า เราเป็นเหยื่อของสถานการณ์กรรมที่กระทำต่อเราอยู่ฝ่ายเดียว ทำไมเราต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ ทำไมเราต้องเกิดมาในครอบครัวนี้ ทำไมเราต้องเกิดมาในประเทศนี้ เป็นต้น แต่หากเริ่มต้นที่การยอมรับกรรมที่มีในชีวิตนี้และในตอนนี้ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายเช่นไร เราก็จะมีพลังในการเผชิญสถานการณ์กรรมที่ประสบอยู่ และมีอำนาจในตนที่จะทำงานกับสถานการณ์นั้นและแปรเปลี่ยนมันด้วยสติปัญญา
เรามีตัวอย่างแรงบันดาลใจมากมายของคนที่ยอมรับตัวเอง และใช้กรรมที่ตัวเองมี ในการสัมพันธ์กับสถานการณ์กรรมอย่างตื่นรู้และสร้างสรรค์ แทนที่จะเป็นเหยื่อของกรรมทางสังคมที่กดทับและสร้างกรรมลบต่อตัวเองซ้ำๆ พวกเขาใช้ศักยภาพจากการเข้าใจตัวเอง เข้าไปสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่ตนประสบอยู่ และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อกรรมทางสังคมที่กดทับพวกเขา
ภาวนา : หนทางการหลุดพ้นจากบ่วงกรรม
พุทธศาสนานอกจากจะให้คำอธิบายเรื่องกรรมอย่างสร้างสรรค์ ยังนำเสนอหนทางสู่การหลุดพ้นจากบ่วงกรรม อันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่อันไม่รู้จบ ความว่ายวนที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” นี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยการยึดมั่นอันหลงผิดว่ามีตัวตนที่ตายตัว ต่อเนื่อง และถาวร
หนทางสู่การหลุดพ้นในพุทธศาสนา เรียกว่า การภาวนา การพัฒนาท่าทีที่เปิดกว้างต่อการอยู่ตรงนั้นในแต่ละชั่วขณะ โดยไม่ถูกขับเคลื่อนไปอย่างไร้ทิศทาง ด้วยอำนาจของความอยาก ความโกรธเกลียด หรือความกลัว
ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากผลงานการรังสรรค์ของกรรม หากรู้สึกดีกับมัน เราก็อยากยึดมันไว้ หากรู้สึกไม่ดีกับมัน เราก็ผลักไสมันหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาในระดับสภาวะธรรมภายในด้วยแล้ว ทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึก คือสภาวะธรรมที่ขับเคลื่อนเราไป โดยที่เราแทบไม่มีโอกาสเป็นผู้กำหนด แต่หากสามารถยอมรับและอยู่กับประสบการณ์นั้นๆ อย่างเต็มที่ ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะกำหนดทิศทางชีวิตของตัวเองได้
ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนที่ตายตัว มีแต่เพียงสายธารกรรมที่ให้ผลในแต่ละขณะ ในฐานะผู้ปฏิบัติภาวนา หากเราบ่มเพาะพื้นที่ของใจที่เปิดกว้างและตระหนักรู้ กรรมส่วนบุคคลก็จะได้รับการปลดปล่อยและยอมรับ พร้อมๆ กับเพิ่มพูนศักยภาพของจิตตื่นรู้ ที่เปิดกว้าง สว่างไสว และเป็นอิสระ มีพลังและสติปัญญาในการทำงานกับ karmic situation ที่เราเผชิญอยู่ ได้อย่างสร้างสรรค์ยิ่งๆ ขึ้น
คำสอนเรื่องกรรมในพุทธศาสนา ส่งเสริมให้เรา “เป็นตัวของตัวเอง” ด้วยการยอมรับกรรมส่วนบุคคล แล้วใช้สติปัญญาในการสร้างโอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลง กระทำการอันเป็นประโยชน์แก่โลกใบนี้ เพื่อปลดปล่อยตัวเองและผู้คนออกจากกรรมทางสังคมที่กดทับ ไม่มีสิ่งใดที่ดำรงอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร เราแต่ละคนสามารถเป็นส่วนสำคัญของ “กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงได้” อันตื่นรู้
++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8