ตัวตน ตอนที่ 2 : อาหารของตัวตน

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงต้องมีตัวตน และทำไมเมื่อยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไรตัวตนของเราก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ? 

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่พี่เล็ก​ ปรีดา​ เรืองวิชาธร​ ตั้งข้อสังเกตจากชีวิตประจำวันทั่วไปของเรา คือ ทำไมการทำดีแล้วมีคนมายกย่องสรรเสริญจึงมีความหมายมากกว่าการกระทำที่สามัญธรรมดา? ทำไมเราถึงชื่นชอบการทำดีเพื่อให้มีคนอื่นมาชื่นชม? เราตั้งใจที่จะทำสิ่งดี ๆ จริง ๆ หรือเรากำลังถูกครอบงำโดยอัตตาในนามของความดีงามกันแน่? แล้วทำไมเราจึงอยากได้มันอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด? 

นั่นหมายความว่าจะต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นอาหารคอยหล่อเลี้ยงตัวตนของเราให้ขยายและกัดกินพื้นที่ภายในของเราอยู่หรือไม่?

.

เราคิดว่าคงเป็นการยากหากจะกล่าวถึงเมนูอาหารจานโปรดของอัตตาทั้งหมดที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วนและมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งและซับซ้อนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าเนื้อหาบางส่วนของพุทธปรัชญาได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมในการอธิบายถึงธรรมชาติของอัตตา เราคิดว่าแนวคิดสำคัญในการที่จะศึกษาธรรมชาติของตัวตนของเรานั้นมีอยู่สองอย่าง นั่นคือ วิญญาณ/การรับรู้ และ สังขาร/การปรุงแต่งความคิด

ในขั้นของการรับรู้นั้น วิญญาณมีส่วนสำคัญในฐานะประตูสู่การรับรู้โลกของเรา ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแว่นของอัตตานั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการบงการและกำหนดการรับรู้โลกของเรา ตรงจุดนี้เองที่กลไกของอัตตาเริ่มจะป้อนอาหารให้แก่ตัวมันเอง การรับรู้ที่ผิดพลาดและคับแคบอันเกินไปอันเกิดจากม่านหมอกของอัตตาทำให้ตัวเราถูกบดบังไม่ให้มีทัศนวิสัยของการมองเห็นโลกตามความเป็นจริง เรามองไม่เห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เรามีต่อสรรพสิ่งและที่สรรพสิ่งมีต่อเรา เราเริ่มยึดเอาตัวเราเองเป็นค่าตั้งต้นของโลก และสร้างความหมายให้แก่สิ่งต่าง ๆ จากนั้น เราก็เริ่มแยกตัวเองออกจากคนอื่นและสิ่งอื่น ๆ การรับรู้ที่ผิดพลาดเช่นนี้เองเป็นตัวการสำคัญที่ยิ่งย้อนกลับไปตอกย้ำความสำคัญและความยึดมั่นถือมั่นที่เรามีต่อความเป็นตัวตนของเราเอง

ส่วนในขั้นของการปรุงแต่งความคิดหรือสังขารนั้น อาจอธิบายได้ว่าเมื่อการรับรู้ของเราผิดเพี้ยนผิดพลาดไปจากความจริง เราก็สมาทานคุณค่าหรือความหมายบางอย่าง พี่เล็กกล่าวว่า ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทำให้เราต้องสมาทานความมั่งคั่งทางตัวตน แต่เราสมาทานมันโดยที่ไม่เข้าใจว่าแต่ละสิ่งมีสาเหตุปัจจัยอย่างไร เมื่อเรามองไม่เห็นเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาของโลก นั่นทำให้เราต้องแสวงหาตัวตนในการเป็นที่ยึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวตัวเองไว้เพื่อต้านกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ดูเหมือนว่าการทำเช่นนั้นได้กลายเป็นการสร้างและตอกย้ำความหมายของตัวตนในรูปแบบต่าง ๆ ให้ยิ่งหนาแน่นขึ้นไปอีก 

เราจะเห็นว่าตัวตนหรืออัตตานั้น มีกลไกในการปรุงแต่งอาหารให้แก่ตัวมันเอง และยิ่งเรารับรู้และสมาทานความหมายของมันมากขึ้น เราก็ยิ่งแสวงหาความรุ่มรวยมั่งคั่งทางตัวตนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นความปกติธรรมดาของโลกนี้ เมื่อเราต้องเผชิญกับสภาวะของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มั่นคงแน่นอน ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ การมีอะไรไว้ให้ยึดเกาะไว้ก็ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ในทางกลับกัน การยึดติดกับตัวตนแบบนี้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุของความเหนื่อยหน่ายทุกข์ยากใจ และเราแบกตัวตนที่หนักอึ้งนี้อยู่ตลอดเวลา เช่นนั้นแล้ว เราควรจะทำอย่างไรกับตัวตนเหล่านี้ที่มีอยู่มากมายเต็มไปหมด? เราจะหยุดห่วงโซ่ของการป้อนเสบียงอาหารให้แก่ตัวตนได้อย่างไร? 

หลายคนอาจเคยได้ยินได้ฟังถึงเรื่องการละตัวตน แล้วการละตัวตนนี้มันเป็นอย่างไรกันแน่ล่ะ?