เราคิดว่าปัญหาของการละตัวตนมีอยู่ว่า จะต้องทำอย่างไรถึงจะละตัวตน? สรุปแล้วตัวตนมันมีหรือไม่มี? ถ้าตัวตนมันไม่มีอยู่จริงแล้วคนเขียนงานชิ้นนี้เพื่อสนทนากับท่านผู้อ่านคือใครกัน? และสภาวะที่เราไม่มีตัวตนนั้นมันเป็นอย่างไรกันแน่?
นี่คือปัญหาสำคัญที่เราได้เผชิญและขบคิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กับพี่เล็ก ปรีดา เรืองวิชาธร พี่เล็กได้เชื้อเชิญเราให้พบคำตอบว่า แท้จริงแล้ว การละจากตัวตนไม่ใช่การ ‘ปฏิเสธ’ ตัวตนของเราเอง การมานั่งใคร่ครวญคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวตนท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นกับดักที่นำไปสู่การสร้างตัวตนในอีกรูปแบบ นั่นคือ ‘ตัวตนที่ปฏิเสธตัวตน’
เราเห็นตัวอย่างมากมายของผู้ที่ใฝ่เรียนศึกษาหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่เป็นนิจ แต่กระนั้นพวกเขาหลาย ๆ คนก็ยังคงยึดติดกับตัวตนบางอย่าง อาจจะเป็นในนามของ ‘ผู้ดำรงอยู่ในศีลธรรม’ หรือ ‘ผู้ที่เข้าใจตัวตนอย่างถ่องแท้’ พี่เล็กได้กระชากให้เรากลับมาฉุกคิดถึงตัวตนอันแยบยลในลักษณะเหล่านั้น และมันทำให้เราคิดได้ว่าการทำงานของตัวตนเกิดขึ้นในทุกระดับ ไม่พ้นแม้แต่ในระดับของผู้ที่ศึกษาธรรมะอย่างจริงจังเสียด้วยซ้ำไป
ในหลาย ๆ ครั้งเราเชื่อว่าการปฏิเสธตัวตนของเรานั้นจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งและหลุดพ้น แต่ในความเป็นจริงมันกลับไม่ง่ายเช่นนั้น การปฏิเสธตัวตนในด้านที่เรามองเห็นว่าไม่ดีหรือไม่ชอบพอพึงใจ กลับนำพาเราไปสู่การเลือกยึดติดเฉพาะตัวตนที่เราคิดว่าดีเท่านั้น เราเพียงเลือกที่จะเสพย์แต่ตัวตนในด้านบวก แล้วเราก็ปฏิเสธตัวตนในด้านลบ การทำเช่นนี้ท้ายที่สุดอาจเป็นการเดินถอยกลับไปสู่จุดของการมองไม่เห็นความเป็นจริงในตัวเราเอง นั่นเป็นเพราะเรากำลังปฏิเสธธรรมชาติอันแท้จริงของเราอยู่เสียอย่างนั้น ดังนั้น เราคิดว่าจุดเริ่มต้นของการทะลุทะลวงอัตตาไปสู่สภาวธรรมที่จริงแท้ได้นั้น อาจจะต้องเริ่มจากการมองเห็นและยอมรับความจริงอันเป็นไปในตัวตนของเราเสียก่อน
ในการนี้ สิ่งสำคัญคือการมองเห็นและเข้าใจในธรรมชาติของอัตตา 3 อย่าง นั่นคือ
1. ความรู้สึกเป็นแท่งเป็นก้อน นั่นคือการที่เราไปยึดจับกับมโนทัศน์บางอย่างว่ามีอยู่และมีแก่นสาร สิ่งนี้เองปิดบังเราจากการมองเห็นความจริงของธรรมชาติหรือที่ในพุทธศาสนาได้กล่าวถึง ‘ไตรลักษณ์’ อันแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก
2. ความต่อเนื่อง การทำงานของอัตตานั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนว่าจะไม่มีเวลาให้เราได้หยุดพักจากมันเลย เมื่อตัวตนเก่าเบาบางลงไป ตัวตนใหม่ก็ขึ้นมาแทนที่ ดังนั้น เราจึงต้องรู้สึกเป็นขณะ ๆ ไปว่าตอนนี้มีตัวตนแบบไหนกำลังก่อตัวขึ้นมาบ้าง
3. การเคลื่อนย้าย อัตตามีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติของมันคือการเคลื่อนย้ายออกห่างจากสภาวะของความจริงที่เป็นทุกข์ เพื่อวิ่งเข้าหาสภาวะที่เป็นสุข แต่นั่นก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าการทำงานของอัตตาในลักษณะเช่นนี้ทำให้เราได้ดำรงอยู่ในความเป็นจริงอย่างแท้จริงหรือไม่
ดูเหมือนว่าการทำงานกับอัตตานั้นเป็นเรื่องที่เราต้องคอยสังเกตเห็นและทำความเข้าใจอยู่เสมอ กระบวนการของการมองเห็นและปล่อยวางตัวตนนั้นเกิดขึ้นและดับไป พร้อม ๆ กับการปะทุขึ้นมาของตัวตนใหม่ ๆ ดังนั้น การละตัวตนจึงไม่ใช่การ ‘ละแล้วละเลย’ แต่จะต้องดำรงอยู่ในชั่วขณะต่าง ๆ ของชีวิตและการปฏิบัติฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เพราะแม้ว่าเราจะฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้ว ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ตัวตนในระดับลึกของเราจะเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ และมันย่อมเป็นอันตรายอย่างไม่ต้องสงสัยเลยหากเราเริ่มที่จะสมาทานตัวตนแบบใหม่นั้นโดยที่เราไม่รู้สึกตัว