“กลียุคพุทธศาสนา” : สิ้นหวังหรือมีหวัง?

“กลียุคพุทธศาสนา” สิ้นหวังหรือมีหวัง?
จากศรามณะ สู่บุพผาชน จากพื้นแห่งความสับสนสู่พุทธะที่ข้ามพ้นยุคสมัย

บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์ [TOON วัชรสิทธา]

เกิดเป็น Gen นี้ มีแต่เรื่องให้หดหู่ เศรษฐกิจก็ซบเซา การเมืองก็ผิดหวัง สุขภาพก็ย่ำแย่ สิ่งแวดล้อมก็ทรุดโทรม พอจะหาทางออกของชีวิตด้วยเรื่องทางศาสนาหรือจิตวิญญาณก็ต้องเจอกับสถาบันที่คร่ำครึ แถมพ่วงมาด้วยคำทำนายโบราณว่าด้วยเรื่องยุคมืดหรือกลียุคอีก

แค่นั่งมองดูสถานการณ์โลกฝั่งโลกียะก็น่าน้อยเนื้อต่ำใจเพียงพอแล้ว ยังต้องเจอความสิ้นหวังในโลกจิตวิญญาณเข้าไปอีก ราวกับว่าการเกิดมาในยุคนี้มันไร้ซึ่งความหวัง เราทำได้เพียงจำนนต่อความเลวร้ายที่แย่งกันอุบัติขึ้นไม่เว้นวัน

มองไปที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สาธารณสุข เราไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างก็เลวร้ายจริง มีเรื่องเป็นกองพะเนินที่ยังต้องแก้ไขและพัฒนา แต่หนทางสู่การค้นพบสัจธรรม หรือความหลุดพ้น เป็นสิ่งที่มีเงื่อนไขที่ตั้งอยู่บนยุคสมัยจริงๆ เหรอ มนุษย์พ.ศ.นี้ ไม่มีหวังแล้วใช่ไหม?

ขออ้อมการตอบคำถามนี้ ไปราวๆ 2600 ปีก่อน สู่ยุคสมัยที่ศาสดาของพุทธศาสนาเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

เจ้าชายสิทธัตถะ กับ ศรามณะมูฟเม้นท์

ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ เขาคือชายที่เกิดมาในวรรณะกษัตริย์ในยุคอินเดียโบราณ ซึ่งเพียบพร้อมด้วยทรัพย์ทางโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ด้วยเหตุปัจจัยและแรงดลใจบางอย่าง ก็ได้นำเขาไปสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต นั่นคือตัดสินใจออกบวช โดยสละรูปแบบชีวิตทางโลกเข้าสู่ป่า ซึ่งในยุคสมัยนั้นการสละโลกออกบวช ไม่ใช่สิ่งปกติทั่วไป แต่เป็นรูปแบบการแสวงหาทางจิตวิญญาณแบบทางเลือก ที่เรียกว่า ศรามณะ หรือ สมณะ การสละโลกสู่ป่าเช่นนี้ ไม่ได้ถูกยอมรับจากกลุ่มที่นับถือคัมภีร์พระเวทหรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มทางจิตวิญญาณกระแสหลักในยุคนั้น เพราะคัมภีร์พระเวทเสนอให้ปัจเจกใช้ชีวิตทางโลกอย่างสมบูรณ์เสียก่อนจึงค่อยออกแสวงหาการหลุดพ้น (โมกษะ) ตามหลักอาศรมสี่

แต่กระแสของศรามณะมีทิศทางของลำดับความสำคัญที่ต่างออกไป นั่นคือมองว่าชีวิตทางโลกเป็นความสำคัญลำดับรอง แต่การแสวงหาการหลุดพ้นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญที่สุด กล่าวได้ว่ากระแสเช่นนี้เป็นการตอบโต้ต่อแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับชีวิตทางโลก และมีลักษณะที่สุดโต่งในแง่ของการอุทิศชีวิตให้กับการแสวงหา เจ้าชายสิทธัตถะในยุคนั้นสนใจแนวคิดกระแสรองนี้ และเลือกที่จะเอาชีวิตตัวเองเข้าทดลอง

การตัดสินใจนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเห็นได้ชัดว่า การออกแสวงหาทางจิตวิญญาณในยุคสมัยนั้น ไม่ได้มีรูปแบบเดียว และการเลือกในสิ่งที่ไม่ใช่กระแสหลัก ย่อมต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น อย่างน้อยที่สุดก็คือการไม่เห็นด้วยกับวิถีในแบบความเชื่อกระแสหลัก เจ้าชายสิทธัตถะอาจมองว่าวิธีการแบบฮินดูในยุคสมัยนั้นไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมกับตัวเขา การตัดหรือการสละ อย่างสุดโต่งต่างหากคือวิธีที่เหมาะกับความทุกข์หรือคำถามที่ดลใจให้เขาออกแสวงหา

มีคำกล่าวว่ากลุ่มนักบวชที่เลือกวิถีแบบสมณะ ถูกมองจากชาวบ้านทั่วไปว่าเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าและมีความขบถทางความคิด เพราะไม่ได้ทำตามสิ่งที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ทรงอิทธิพลอย่างมากต่อผู้คนในสมัยนั้น

แต่ความขบถนี้ก็ไม่ได้ไร้ที่มา สังคมอินเดียในยุคนั้นกำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือการที่กลุ่มคนที่เคยใช้ชีวิตแบบชนเผ่าที่กระจายตัว เริ่มมีการรวมกลุ่มเกิดเป็นแคว้นหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือมีความเจริญขึ้นทางอารยธรรม พัฒนาการทางสังคมนี้ส่งผลอย่างมากต่อระบบวิธีคิดและความเชื่อที่มีมาแต่เดิม

พุทธะที่เป็นคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น อาจมองเห็นถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสังคมหรือหมู่นักแสวงหาที่อยู่ภายใต้กรอบของคัมภีร์พระเวท เราจะเห็นได้จากท่าทีของคนที่เป็นสมณะว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากคนที่ศรัทธาในคัมภีร์พระเวท ตั้งแต่ระดับของรูปลักษณ์อย่างการโกนผม ขณะที่พราหมณ์ไว้ผม การปฏิเสธพิธีกรรมแบบเดิมๆ การไม่ให้ความสำคัญกับระบบวรรณะ จนถึงการปฏิเสธความสำคัญของเทพหรือพระเจ้าต่อเส้นทางการหลุดพ้น

ท่าทีเช่นนี้ของกระแสศรามณะ ชี้ให้เห็นว่ามันมีพลังทางความคิดบางอย่างที่สดใหม่ เกิดขึ้นมาในยุคสมัยนั้น เป็นมวลที่อุบัติขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมอินเดีย เป็นมวลที่เกิดขึ้นจากความสับสนของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ที่ซึ่งสิ่งเก่าๆ ถูกสั่นคลอน


พลังนี้ยิ่งใหญ่ขนาดที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะออกจากสังคมรูปแบบเดิม ความเชื่อรูปแบบเดิม เพื่อแสวงหาบางสิ่งที่เป็นความจริงแท้ของชีวิต หนึ่งในคนจำนวนนั้นก็คือเจ้าชายที่มาจากวรรณะกษัตริย์ ผู้เล็งเห็นว่าสถานะ ความมั่งคั่ง และความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง ไม่อาจมอบคำตอบนี้ให้กับเขา

หลังจากการออกบวช เขาก็เดินท่องไปเสาะหาคุรุจากหลายสำนัก เพื่อร่ำเรียนการปฏิบัติและปรัชญาแนวคิดที่จะพาเขาไปสู่การหลุดพ้น ทว่าสุดท้ายเขาก็ไม่ได้พบแนวทางที่มีอยู่แล้วที่ทำให้เขาพอใจ เขาจึงออกแสวงหาความหลุดพ้นต่อตัวเองในวิถีของสมณะ จนกระทั่งเขาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด แต่ภายหลังจากการตรัสรู้แล้ว เรายังพบว่าคำสอน ภาษา และวิธีการอธิบายหลายอย่างของพุทธะ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนา มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับปรัชญาฮินดูในยุคสมัยนั้น ทว่ามีวิธีการอธิบายเป้าหมายสูงสุดของการบรรลุธรรมในแบบที่แตกต่างออกไป จุดที่ชัดเจนที่สุดจุดหนึ่งคือความเป็นอทวินิยมของพุทธศาสนา ยังไม่นับว่าเมื่อพุทธศาสนาได้วิวัฒน์ต่อจนเกิดเป็นมหายาน และวัชรยาน จุดเหมือนและต่างของคำสอนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

เส้นทางจิตวิญญาณโดยคร่าวของพุทธะนับตั้งแต่การสละโลกออกบวช ศึกษาธรรมในสำนักคิดต่างๆ จนบรรลุธรรม แล้วกลับมาปฏิสัมพันธ์กับโลกในฐานะพุทธะ ทำให้เรามองเห็นอิทธิพลของสิ่งต่างๆ ในยุคสมัยนั้นที่พุทธะได้รับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเขา และไม่มากก็น้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงการหลุดพ้น และคำสอนของเขาในภายต่อมา

คงไม่ผิดจากความจริงไปนักหากจะกล่าวว่าพุทธะไม่ได้คิดค้นสิ่งใหม่ที่ล้ำสมัยจนผู้คนในอินเดียโบราณไม่อาจเข้าถึง แต่เขาใช้เครื่องมือทั้งหมดที่พื้นที่และยุคสมัยนั้นมี ในการสื่อสารบางสิ่งที่ข้ามพ้นกาลเวลา จึงไม่แปลกเลยที่คำสอนของเขาจะมีส่วนที่ทับซ้อนกับชุดความรู้ที่มีในยุคสมัยนั้น บ้างเป็นองค์ความรู้ บ้างเป็นภาษา บ้างเป็นวัตรปฏิบัติ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่พุทธะแสดงออกมา มีลักษณะเฉพาะตัวที่ล้ำสมัย (ท้าทายความเชื่อเดิม) เชื่อในศักยภาพของปุถุชน และมีความยืดหยุ่นต่อชุดภาษาและชุดความรู้ด้วย

เรื่องราวของพุทธะใน 2600 ปีก่อน ชี้ให้เราเห็นอะไรบ้าง?

คำตอบอาจแตกต่างกันออกไป หากมองว่าพุทธะคือบุคคลที่ประเสริฐที่สุดและไม่มีวันที่โลกของเราจะปรากฏบุคคลเช่นนี้ได้อีก เราก็คงได้แต่น้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเราถึงไม่มีโอกาสได้ไปเกิดในสมัยพุทธกาล ราวกับว่าเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไรผืนดินก็ยิ่งมืดมิดลงเท่านั้น และที่น่ากลัวก็คือยิ่งมืด ความเลวทรามต่ำช้าก็จะเผยตัวออกมาอย่างไม่ต้องกลัวฟ้าดิน การตื่นรู้ในยุคสมัยเช่นนี้ จึงดูจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่คำถามคือว่า ดวงอาทิตย์ที่ปัดเป่าความมืด แท้จริงแล้วคือตัวบุคคล หรือเป็นคุณสมบัติของเขาต่างหาก ที่ฉายฉานหนทางแห่งความตื่นให้ผู้คนได้พบเห็น

หากลองเปิดใจฟังมุมมองจากคำตอบอย่างหลัง เราอาจเห็นว่าความหมายของพุทธะ เริ่มกว้างขึ้น สิ่งที่เราสามารถมองผ่านชีวประวัติของเขาก็จะไม่ได้เป็นเพียงมุมมองแบบบุคคลเท่านั้น แต่เป็นมุมมองต่อพุทธะในฐานะกิจกรรมของความตื่นรู้ที่แท้จริงแล้วอาจไม่มียุคสมัย

เมื่อมองไปในประวัติศาสตร์โลก เราอาจมองเห็นรูปแบบของผู้คนในอดีต ที่เลือกวิถีของการออกแสวงหาเช่นเดียวกับพุทธะมากมาย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง มนุษย์สับสน ศีลธรรมเดิมสั่นคลอนและถูกตั้งคำถาม ตัวอย่างที่น่าสนใจหนึ่งคือขบวนการบุพผาชนหรือฮิปปี้ในช่วงทศวรรษ 1960 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา บริบทของอเมริกาช่วงนั้นมีทั้งเรื่องของสงครามเย็น พัฒนาทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเติบโตขึ้นของระบบทุนนิยม วัตถุนิยม ฯลฯ แม้จะดูเป็นทิศทางขาขึ้นของพัฒนาการทางสังคม แต่ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงก็พาให้ผู้คนเกิดความสับสน ในช่วงเวลานั้นผู้คนตกอยู่ในความทุกข์ระดับลึกที่กลไกทางสังคมไม่อาจบรรเทา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความทุกข์ในระดับจิตวิญญาณ

พวกเขาจึงเริ่มตั้งคำถามกับชีวิต ระบบสังคม ค่านิยมก่อนหน้า จนเกิดขบวนการที่ปฏิเสธทิศทางของสังคมที่ให้ความสำคัญกับความมั่งคั่ง หนุ่มสาวหลากฐานะปลดเปลื้องตัวเองออกจากความเป็นคนเมืองออกแสวงหาบนวิถีของการสละสิ่งเก่าๆ

ช่วงเวลานั้นแนวคิดทางจิตวิญญาณมากมายผุดกำเนิดขึ้นมา และขณะเดียวกันแนวคิดทางจิตวิญญาณจากโลกตะวันออกก็ได้มีโอกาสไปงอกงามในแผ่นดินตะวันตก ราวกับว่าบนพื้นของความสับสน คือบ่อเกิดของพลังบางอย่างที่ให้กำเนิดปัญญาญาณและความตื่นรู้ ศาสนาพุทธจากวัฒนธรรมต่างๆ ได้ทดลองหยั่งรากลงบนผืนดินใหม่ รวมถึงพุทธวัชรยาน ที่เป็นพัฒนาการสุดท้ายของพุทธศาสนาด้วย

คุรุที่โบยบินสู่ดินแดนใหม่นี้ ยกตัวอย่างเช่น เชอเกียม ตรุงปะ ก็ทำในสิ่งเดียวกับที่พุทธะเคยทำ นั่นคือการซึมซับเอาทั้งหมดของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา ปรัชญาวิธีคิด เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา แล้วสื่อสารหัวใจของพุทธธรรมออกไปผ่านเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านั้น เราจึงได้เห็นพุทธธรรมผ่านชุดภาษาของจิตวิทยา ปรัชญา หรือแม้แต่กลิ่นอายของศาสนาในโลกตะวันตกด้วย ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของพุทธศาสนาที่เคยยึดโยงอยู่กับวัฒนธรรมทิเบต ให้มีความร่วมสมัยและเป็นสากล


ความสามารถในการวิวัฒน์ตัวเองตามยุคสมัยเช่นนี้ของพุทธศาสนา หากไม่ใช่ร่องรอยของกิจกรรมแห่งความตื่นรู้แล้ว จะเป็นสิ่งใดได้อีก

กลับมาที่ปัจจุบัน เมื่อโลกดูเลวร้าย เมื่อโลกแบบเดิมเริ่มดู “ไม่จริง” ในแง่หนึ่งเราอาจพบว่ามันช่างน่าสิ้นหวัง เป็นสภาวะสุญญากาศที่เคว้งคว้างไร้ทางออก ศรัทธาที่เคยมีกับหลายสิ่งก็พังทลายลง ชีวิตปราศจากความหมาย เป็นช่วงเวลาอันไร้ที่พึ่งพึง เป็นกลียุคที่ได้อุบัติขึ้นแล้ว

แต่ขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นห้วงเวลาเฉพาะแบบหนึ่ง ที่เราจะได้คลายมือที่ยึดเกาะอยู่กับโลก ความเชื่อ ค่านิยม แบบเดิมๆ ออกมา ชั่วขณะนั้น เราอาจมองเห็นแสงรางๆ ของอำนาจในมือตัวเอง ที่จะทดลองค้นหาความจริงที่พ้นไปจากโลกที่เราเคยรู้จัก และบางทีในพื้นที่ที่พ้นไปนั้น เราจะได้พบกับตถาคต ผู้พำนักอยู่ในดินแดนอันสุกสว่าง ไร้กาลเวลา



++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8